แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงบันทึกคำแถลงของคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณารวบรัด ฝ่าฝืนมาตรา 31 และ 39 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่นั้น เป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งงดสืบพยานของศาลอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ตามระเบียบข้อบังคับหมวดการให้ออกและเลิกจ้าง ข้อ 20 ของจำเลยกำหนดว่า ‘หากพนักงานคนใดปฏิบัติผิดกฎข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่ง บริษัท ฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาโทษให้ออกจากงานและยึดเงินประกัน’ และตามระเบียบดังกล่าวได้กำหนดเรื่องการขอรับเงินประกันคืนไว้ว่า ‘พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าปฏิบัติงานกับบริษัท ฯ อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปถึงจะมีสิทธิรับเงินประกันคืนเมื่อลาออกจากงานโดยต้องยื่นใบลาล่วงหน้า 15 วัน’ การที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างลาออกโดยโจทก์ได้ทำงานกับบริษัทจำเลยเกินกว่า 6เดือน และยื่นใบลาล่วงหน้า 15 วันแล้ว จึงต้องด้วยระเบียบการขอรับเงินประกันคืน แม้จำเลยจะฟังว่าโจทก์ขาดงาน 3วันติดต่อกัน แต่จำเลยก็มิได้ให้โจทก์ออกจากงาน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อ 20 แห่งระเบียบข้อบังคับหมวดการให้ออกและการเลิกจ้างดังกล่าว เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียหายประการใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดเงินประกันของโจทก์ไว้.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับในบาร์ของจำเลย โดยเรียกเงินประกันไว้ 4,000 บาท และสัญญาว่าจะคืนให้เมื่อลาออกจากงาน โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องไม่ทำผิดกฎระเบียบและต้องแจ้งการลาออกล่วงหน้า 15 วันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2530 โจทก์ได้ยื่นใบลาออกโดยขอลาออกในวันที่ 27 มิถุนายน 2530 จำเลยรับทราบแล้วแจ้งให้โจทก์รับเงินประกันคืนในเดือนถัดไป เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่คืนให้ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินประกัน 4,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลย ไม่ได้รับค่าจ้างจากจำเลย และไม่มีความสัมพันธ์ฉันนายจ้างและลูกจ้าง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มีรายได้จากส่วนแบ่งจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในบาร์ของจำเลย ในการหาผลประโยชน์ดังกล่าวโจทก์วางเงินประกันไว้ 4,000 บาท โดยตกลงว่าจะมาทำงานในสถานที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 6 เดือน จึงจะมีสิทธิรับเงินประกันคืน เมื่อลาออกจากงานต้องยื่นใบลาล่วงหน้า 15 วัน และจะปฏิบัติตามระเบียบของสถานที่ดังกล่าวโดยเคร่งครัด โจทก์ปฏิบัติผิดข้อตกลงโดยในเดือนมิถุนายน 2530 โจทก์มาทำงานรวม 4 วัน แล้วก็ขาดงานตลอดโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบต่อมาโจทก์ได้ยื่นขอลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน2530 แล้วไม่มาทำงานอีกเลย โดยจำเลยไม่อนุมัติ เพราะโจทก์ไม่มาทำงานและขาดงานเกินกว่า 3 วันติดต่อกัน ถือว่าโจทก์ประพฤติผิดข้อตกลงผิดกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันดังกล่าวคืน
ในวันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับกันว่า การวางเงินประกันนั้นไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ โจทก์ได้วางเงินประกันตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย เงื่อนไขในการขอคืนเงินประกันจึงอยู่ในข้อบังคับดังกล่าวระเบียบข้อบังคับปรากฏตามสำเนาอัตราเงินเดือนที่คู่ความส่งศาลและโจทก์แถลงรับว่าเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 เป็นสำเนาใบลาออกของโจทก์ หลังจากยื่นใบลาออกแล้วตั้งแต่วันที่ 12มิถุนายน 2530 โจทก์ไม่ได้ไปทำงานอีก แต่ได้บอกให้ผู้จัดการจำเลยทราบแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานและสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยให้โจทก์วางเงินประกันไว้ก็เพื่อเป็นหลักประกันของโจทก์ระหว่างที่ทำงานอยู่กับจำเลย หากมีกรณีที่ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยจะได้รับการชดใช้จากหลักประกันได้ทันที่ซึ่งเป็นลักษณะของการค้ำประกันทั่ว ๆ ไป กรณีของโจทก์ โจทก์ทำงานกับจำเลยครบ6 เดือนแล้ว ถึงแม้การลาออกจะไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามระเบียบ แต่โจทก์ก็ไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายประการใด จึงไม่มีเหตุอะไรที่จำเลยจะยึดเงินประกันของโจทก์ไว้ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดข้อตกลงคือขาดงานในเดือนมิถุนายน 2530 โจทก์ทำงานเพียง 4 วันโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบเป็นการขาดงานเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันคืน เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังจำเลยอ้าง แต่จำเลยก็ไม่ได้ให้โจทก์ออกจากงานจำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดเงินประกันตามระเบียบข้อบังคับหมวดการให้ออกและการเลิกจ้าง ข้อ 20 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน 4,000 บาทให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘อุทธรณ์ของจำเลยสรุปได้เป็น 3 ประการ และศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยต่อไปตามลำดับ โดยประการแรกอุทธรณ์เป็นใจความว่า คดีมีประเด็นดังนี้คือ(1) โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่(2) โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานหรือไม่ (3) โจทก์ปฏิบัติผิดข้อตกลงและผิดกฎระเบียบของจำเลยหรือไม่ และ(4) โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันคืนหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางหาได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ไม่เพียงแต่บันทึกคำแถลงของคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายปรากฏรายละเอียดตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 สิงหาคม2530 นั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณารวบรัดเกินไป ฝ่าฝืนมาตรา 31 และ 39 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และสมควรที่จะกำหนดประเด็นข้อพิพาท แล้วมีคำสั่งให้คู่ความสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสียให้สิ้นกระแสความก่อน จึงขอให้ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาตามนัยดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งงดสืบพยานของศาลแรงงานที่สั่งในวันนัดพิจารณาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2530 อันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2530 แต่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยมิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้แต่ประการใด จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…
จำเลยอุทธรณ์ประการที่สามเป็นใจความว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิยึดเงินประกัน แล้วพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยมีสิทธิยึดเงินประกันไว้ได้ตามระเบียบข้อบังคับหมวดการให้ออกและเลิกจ้าง ข้อ 20 นั้น พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบข้อบังคับ (สำเนาอัตราเงินเดือนที่คู่ความส่งศาลในวันนัดพิจารณา วันที่ 17 สิงหาคม 2530 สำนวนอันดับ 12) หมวดการให้ออกและเลิกจ้าง ข้อ 20 กำหนดว่า ‘หากพนักงานคนใดปฏิบัติผิดกฎข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่ง บริษัท ฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาโทษให้ออกจากงานและยึดเงินประกัน’ เห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการให้ออกและการเลิกจ้างโดยจำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิยึดเงินประกันได้ในเมื่อโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างปฏิบัติผิดกฎข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งแล้วจำเลยผู้เป็นนายจ้างให้ออกจากงานด้วย แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างลาออกโดยโจทก์ได้ทำงานกับบริษัทจำเลยเกินกว่า 6เดือนแล้ว โจทก์ได้ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2530โดยขอลาออกตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการยื่นใบลาล่วงหน้า 15 วันแล้ว กรณีจึงต้องด้วยระเบียบข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นที่ได้กำหนดไว้ในหน้าแรก บรรทัดที่ 7 และที่ 8 ว่า ‘พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าปฏิบัติงานกับบริษัทอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิรับเงินประกันคืนเมื่อลาออกจากงาน โดยต้องยื่นใบลาล่วงหน้า15 วัน’ เช่นนี้ ถึงแม้จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้ขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกัน แต่จำเลยก็มิได้ให้โจทก์ออกจากงาน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อ 20 แห่งระเบียบข้อบังคับหมวดการให้ออกและการเลิกจ้างดังกล่าวข้างต้น ทั้งศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียหายประการใด ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดเงินประกันของโจทก์ไว้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน 4,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.