คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 117/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและไม่ใช่ทายาท กับจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่า ทำการจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าที่ผู้ตายทำขึ้นโดยทราบดีว่ามีข้อสัญญาว่าถ้าผู้เช่าวายชนม์ ให้สิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าตกทอดไปยังทายาทของผู้เช่านั้น เป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 750,000 บาท กับค่าเสียหายแทนค่าเช่าอีกเดือนละ 6,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า เหตุที่จำเลยที่ 2 เลิกสัญญาเช่าเพราะจำเลยที่ 1 ค้างค่าเช่า จำเลยที่ 3 ได้ลงชื่อในสัญญาในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 มิใช่ในฐานะส่วนตัว
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายนายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล ทายาทของผู้ตาย ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 220,000 บาทแก่โจทก์ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายแทนค่าเช่าให้โจทก์อีกเดือนละ 2,000 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 400,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นบิดาและทายาทของนายจิ้งเม้ง แซ่เล้า ผู้ตายจำเลยที่ 1 เป็นภริยาผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ขณะมีชีวิตอยู่นายจิ้งเม้งได้เช่าตึกแถวพิพาท เลขที่68 ตั้งอยู่ถนนชนเกษม ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากจำเลยที่ 2 โดยจดทะเบียนการเช่าไว้มีกำหนด 30ปี ต่อมานายจิ้งเม้งถึงแก่กรรมศาลฎีกามีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนายจิ้งเม้งร่วมกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2521 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เลิกสัญญาเช่าตึกพิพาทกัน แล้วจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 4 เช่าตึกพิพาทต่อโดยจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 23 ปี 6 เดือน เท่ากับกำหนดเวลาที่เหลือตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับนายจิ้งเม้งเดิม
คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติแล้ว ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 1 นั้นก็ฟังได้เป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์คดีมีปัญหาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด และจำเลยที่ 2 ที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์มีนายวิสิทธิ์ ธัญชลีนาวงศ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นบุตรโจทก์เบิกความยืนยันว่า ก่อนวันที่ 18 มกราคม 2521 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญาเช่าตึกพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายจิ้งเม้งและเป็นวันทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4นั้น พยานได้พาโจทก์ไปบอกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้ทราบถึงผลของคดีที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกนายจิ้งเม้งร่วมกัน และผลของคดีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์มีส่วนในสิทธิการเช่าตึกพิพาท นอกจากนี้สัญญาเช่าตึกพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายจิ้งเม้งตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าตึกตึกแถวท้ายฟ้องก็ระบุไว้ชัดในข้อ 2 ว่า ถ้าผู้เช่าวายชนม์ลงสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าให้ตกทอดไปยังทายาทของผู้เช่าทุกประการ จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ให้เช่าย่อมจะต้องทราบถึงข้อกำหนดดังกล่าวดี อนึ่ง ปรากฏตามเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.8 ว่าจำเลยที่ 3 ลงชื่อในนามของจำเลยที่ 2 ในการขอจดทะเบียนเลิกให้เช่าตึกพิพาทซึ่งนายจิ้งเม้งเป็นผู้เช่าโดยอ้างเหตุว่าผู้เช่าถึงแก่กรรม จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ขอจดทะเบียนเลิกให้เช่าตึกพิพาททั้งๆ ที่ทราบว่าสิทธิในการเช่าตึกพิพาทตกทอดไปยังทายาทของนายจิ้งเม้ง และในวันเดียวกันนั้นเองคือวันที่ 18 มกราคม 2521 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ก็นำตึกพิพาทไปให้จำเลยที่ 4 เช่าโดยมีข้อกำหนดตามสัญญาเช่าเช่นเดียวกับที่เคยทำไว้กับนายจิ้งเม้ง ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย จ.9 นอกจากนี้ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งกระทำในวันเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีว่า ผู้เช่าตาย จำเลยที่ 2 จึงขอเลิกสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าว เอกสารนี้มิได้มีข้อความพาดพิงถึงทายาทของผู้เช่าเลยสำหรับสำเนาภาพถ่ายบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 ก็ระบุเพียงว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 และบุตรไม่มีความประสงค์ที่จะเช่าต่อไปแล้ว มิได้กล่าวถึงข้อกำหนดในสัญญาเลยว่าสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าตกไปยังทายาทจำเลยที่ 1 จึงมิได้ให้ถ้อยคำในฐานะทายาทหรือแทนทายาทคนใดเลย แต่เห็นได้ว่าทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 พยายามปิดบังข้อกำหนดในสัญญาเช่าดังกล่าวเพื่อให้เจ้าพนักงานจดทะเบียนการเลิกเช่าให้ ดังจะเห็นได้จากเอกสารหมาย จ.7 ว่า จำเลยที่2 ให้ถ้อยคำว่าสัญญาเช่าฉบับของจำเลยที่ 2 ได้สูญหายไป ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ทายาทของนายจิ้งเม้ง แต่ได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมการเลิกเช่าตึกพิพาทดังกล่าว เพราะจำเลยที่ 2 ย่อมจะพิสูจน์ความจริงได้โดยง่ายว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจิ้งเม้งหรือไม่ โดยการขอดูทะเบียนสมรสจากจำเลยที่ 1 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเลิกสัญญาเช่าแทนบุตรซึ่งเป็นทายาทของนายจิ้งเม้งนั้นจำเลยที่ 2 ก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่นั้นโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเลยว่า จำเลยที่ 4 จงใจกระทำให้โจทก์เสียหายอย่างไร แม้โจทก์จะนำสืบทำนองว่า โจทก์ได้บอกให้จำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์มีส่วนในการเช่าตึกพิพาท ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 4 จะต้องเชื่อฟังและล้มเลิกความตั้งใจที่จะเช่าตึกพิพาท จำเลยที่ 4 น่าจะเชื่อถือเจ้าพนักงานมากกว่าโจทก์จำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนผูกพันตามสัญญาเช่าเดิมที่จำเลยที่ 2ทำไว้กับนายจิ้งเม้ง ทั้งจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ระวังรักษาผลประโยชน์ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 4 จะต้องรักษาผลประโยชน์ตนเองมากกว่ากล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 4 ประสงค์จะเช่าตึกพิพาท หากเจ้าพนักงานสามารถจดทะเบียนการเช่าให้จำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่4 ก็น่าจะเต็มใจที่จะเช่าตึกพิพาท ในกรณีนี้ปรากฏว่า จำเลยที่ 4 ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของตึกพิพาทโดยเจ้าพนักงานจดทะเบียนการเช่าให้แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 4 จะต้องสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ให้ตนเช่าและเจ้าพนักงานจดทะเบียนการเช่าให้ตนโดยชอบหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ได้จ่ายเงินกินเปล่าให้จำเลยที่ 2 ไปจริงดังที่จำเลยที่ 4 นำสืบ มิฉะนั้นจำเลยที่ 2 คงจะไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 4 เช่าตึกพิพาทเป็นเวลาถึง 23 ปี 6 เดือน ตามพฤติการณ์ไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายโดยผิดกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียงใดนั้น โจทก์นำสืบว่า นายจิ้งเม้งได้สิทธิการเช่าตึกพิพาทโดยโจทก์ออกเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาทเศษ และจำเลยที่ 4 เบิกความว่า เสียค่าตอบแทนในการจดทะเบียนการเช่าเป็นเงิน 400,000 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 400,000 บาทกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000 บาทนั้น ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share