แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับขี่มาที่เกิดเหตุขณะจำเลยที่ 1,2 ลักทรัพย์ จำเลยที่ 4 ก็ยืนคอยอยู่แถวนั้น พฤติการณ์ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดด้วย
ขณะจำเลยกระทำผิด รถจักรยานยนต์พาหนะของจำเลยยังจอดอยู่ที่เดิมมิได้ก่อให้เกิดความสะดวกในการลักทรัพย์แต่อย่างใดการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336ทวิ
ศาลล่างพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ทวิ จำเลยที่ 4 ฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 4 มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) ศาลฎีกาย่อมพิพากษาแก้ถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้ง 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 336 ทวิ, 83, 93 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกมีกำหนด 2 ปี พ้นโทษมาแล้วกระทำผิดคดีนี้ภายใน 3 ปี ขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมาย ริบของกลาง
จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ เฉพาะจำเลยที่ 2 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 5 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93อีกกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน ริบลูกกุญแจรถจักรยานยนต์ของกลาง ส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางคันหมายเลขทะเบียน 4จ-4131กรุงเทพมหานคร และคันหมายเลขทะเบียน 7จ-4570 กรุงเทพมหานคร คืนให้แก่เจ้าของ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ ให้จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี 3เดือน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละหนึ่งในสาม คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปีจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…โจทก์มีนายดาบตำรวจสวัสดิ์ จ้อยสาร และจ่าสิบตำรวจสุวัฒน์ พุฒตาล เบิกความเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้กระทำผิดโดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 พยานทั้งสองเฝ้าดูพฤติการณ์อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ขับขี่รถจักรยานยนต์มาคนละคัน มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซ้อนท้ายมา จอดรถแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เข้าไปในห้างโรบินสันเหมือนบุคคลอื่น แต่เดินเตร่อยู่แถวนั้น แล้วจำเลยที่ 1 ใช้ลูกกุญแจที่ตบแต่งใหม่ให้สามารถไขรถจักรยานยนต์ได้ทุกคันไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายขับขี่ออกไปโดยจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายพยานทั้งสองจึงเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้ได้ขณะออกรถไปได้เพียง 4 เมตร ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับสารภาพ สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น พยานทั้งสองยืนยันว่าเป็นคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับขี่มา ขณะจำเลยที่ 1 ที่ 2ลักเอารถผู้เสียหายไปจำเลยที่ 4 ก็ยืนคอยอยู่แถวนั้น โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทิ้งรถจักรยานยนต์สองคันที่ขับขี่มาไว้ที่ลานจอดรถห้างโรบินสันนั้นเอง พฤติการณ์แสดงว่าหากไม่มีการจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 เสียก่อน จำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็คงจะต้องขับรถจักรยานยนต์สองคันนั้นกลับไปตามที่แบ่งหน้าที่กันทำ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกจับกุมได้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงหลบหนีไปโดยทิ้งรถจักรยานยนต์ทั้งสองคันนั้นไว้ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรู้เห็นในการลักทรัพย์รายนี้อย่างแน่นอนที่จำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นในการกระทำผิดนี้ โดยอ้างว่าตนขับรถยนต์สี่ล้อเล็กซูบารุไปห้างโรบินสันกับจำเลยที่ 3 แล้วต่อมาถูกจับกุมที่บ้านนั้น เป็นพิรุธขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนและชั้นมอบตัวตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.4 ซึ่งจำเลยที่ 4 ลงชื่อรับรองความถูกต้องไว้ มีใจความว่า จำเลยที่ 4 ไปห้างโรบินสันโดยรถจักรยานยนต์พร้อมกับจำเลยอีก 3 คนและต่อมาได้เข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 4 จึงรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 4ฟังไม่ขึ้น
แต่การกระทำของจำเลยที่ 4 จะเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ทวิ ดังฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยเพียงแต่ใช้รถจักรยานยนต์ของตนเป็นยานพาหนะขับขี่มายังที่เกิดเหตุเท่านั้น ขณะจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายรถจักรยานยนต์ยานพาหนะของจำเลยยังคงจอดอยู่ที่เดิม มิได้ก่อให้เกิดความสะดวกในการลักทรัพย์นั้นแต่อย่างใด จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของตนเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดดังฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 เท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ อีกด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงเห็นควรแก้บทลงโทษเสียให้ถูกต้อง และศาลฎีกาย่อมพิพากษาแก้ตลอดถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (7) วรรคแรก, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 นอกจากนี้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น’.