คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานขับรถขององค์การสวนยาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับใบรับ-จ่ายน้ำมันมาแล้วมอบให้ ว.ไปเบิกน้ำมันใส่รถยนต์ส่วนตัวของว.ทั้ง ๆ ที่จำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำใบรับ-จ่ายน้ำมันไปเบิกน้ำมันใส่รถของผู้เสียหายเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในกิจการของผู้เสียหาย ย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจึงมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 แต่หามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 4 ไม่ เพราะจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายในมาตรา 147 และจำเลยเป็นพนักงานขับรถเพียงแต่มอบใบรับ-จ่ายน้ำมันที่จำเลยได้รับมามอบให้ ว. ไปเบิกน้ำมันใช้เป็นส่วนตัวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 เมื่อจำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11เท่านั้น พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย เพราะไม่ใช่เป็นความผิดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นลูกจ้างประจำและเป็นพนักงานองค์การสวนยางผู้เสียหาย ทำหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขับรถฝ่ายโรงงาน 1 มีหน้าที่ดูแลรักษาน้ำมันรถที่เบิกมาเพื่อเติมรถที่จำเลยดูแลรับผิดชอบจำเลยรับใบจ่ายน้ำมันจากผู้เสียหายเพื่อเติมรถไถของผู้เสียหาย แล้วนำไปใช้ในขอบวัตถุประสงค์ของผู้เสียหาย แต่จำเลยนำใบรับจ่ายน้ำมันดังกล่าวมอบให้นายวีระเติมใส่รถยนต์ส่วนตัวของนายวีระอันเป็นการเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายโดยทุจริต และเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 4, 10 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน340 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษบทหนัก (ที่สุด) แต่ปรากฏว่าบทกฎหมายดังกล่าวมีอัตราโทษเท่านั้น จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐมาตรา 4 จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน340 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเป็นพนักงานขับรถขององค์การสวนยางซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2535 จำเลยได้รับใบรับจ่ายน้ำมันเอกสารหมาย จ.1 มาแล้วได้มอบให้นายวีระ ทองขาว ไปเบิกน้ำมันจากสหกรณ์ของผู้เสียหายเติมรถยนต์ของนายวีระ มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดตามโจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยนำสืบว่า ในวันที่4 มกราคม 2535 จำเลยจะพาบุตรซึ่งป่วยไปโรงพยาบาลและได้ไปบอกนายวิรัต เนี่ยมเล็ก เพื่อขอรถของผู้เสียหายแต่รถของผู้เสียหายไม่มีเนื่องจากมีผู้นำไปปฏิบัติงานหมด นายวิรัตอนุญาตให้จำเลยหารถบุคคลอื่นไปส่งบุตรก่อน และจะเติมน้ำมันให้ภายหลังจำเลยไปขอร้องให้นายวีระขับรถยนต์ไปส่งบุตร รุ่งขึ้นนายวิรัตเขียนใบรับ-จ่ายน้ำมันเอกสารหมาย จ.1 ให้จำเลย และจำเลยได้มอบให้นายวีระไปเบิกน้ำมันจากสหกรณ์ของผู้เสียหายข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอะไรสนับสนุน ซึ่งถ้าบุตรของจำเลยป่วยและได้นำตัวไปให้แพทย์ตรวจที่โรงพยาบาลจริง จำเลยก็น่าจะมีหลักฐานการนำบุตรเข้าตรวจรักษาจากโรงพยาบาลและหลักฐานการตรวจรักษาจากแพทย์มาเสนอต่อศาลได้ ปรากฏตามใบรับ-จ่ายน้ำมันเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุว่าเป็นรถหมายเลขเอ็มเอฟ 4 บรรทุกไม้ไผ่ที่บ้านหนองปรือและเมล็ดกาแฟ ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเขียนข้อความดังกล่าวไว้ในใบรับ-จ่ายน้ำมันเอกสารหมาย จ.1 ยังได้ความจากนายประวิทย์ บริบูรณ์ และนายวิรัตว่านายประวิทย์เป็นผู้เขียนข้อความในเอกสารดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่านายวิรัตเป็นผู้เขียนก็เพิ่งกล่าวอ้างเมื่อจำเลยเบิกความเป็นพยาน โดยมิได้ถามค้านนายประวิทย์และนายวิรัตในเรื่องนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยเพิ่งจะยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นมาในชั้นศาล แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย การนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้เชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์นำสืบ การที่จำเลยได้รับใบรับ-จ่ายน้ำมันเอกสารหมาย จ.1 แล้วมอบให้นายวีระไปเบิกน้ำมันใส่รถยนต์ส่วนตัวของนายวีระ ทั้ง ๆ ที่จำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำใบรับ-จ่ายน้ำมันดังกล่าวไปเบิกน้ำมันใส่รถของผู้เสียหายเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในกิจการของผู้เสียหายย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 แต่หามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 4 ไม่ เพราะจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายในมาตรา 147 และจำเลยเป็นพนักงานขับรถยนต์เพียงแต่มอบใบรับ-จ่ายน้ำมันที่จำเลยได้รับมาให้นายวีระไปเบิกน้ำมันใช้เป็นส่วนตัว ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า น้ำมันที่จำเลยมอบให้รับ-จ่ายน้ำมันให้นายวีระนำไปเบิกน้ำมันมีราคาเพียง 340 บาท และได้ความจากนายประวิทย์และนายวิรัตผู้บังคับบัญชาของจำเลยว่า จำเลยมีความประพฤติเรียบร้อย ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็งและเคยได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือน 2 ขั้นด้วย การที่จำเลยถูกลงโทษทางวินัยให้ออกจากงาน และถูกดำเนินคดีนี้ จำเลยก็ได้รับความเดือดร้อนพอสมควรแก่การกระทำความผิดของจำเลยแล้ว เห็นควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษมาก่อนเพื่อให้จำเลยมีโอกาสประพฤติตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยด้วย
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 340 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น เมื่อฟังว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 เท่านั้น โจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย เพราะไม่ใช่เป็นความผิดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 ในเรื่องนี้แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share