คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างสูงที่ธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าเป็นเพียงให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ตกลงอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดเท่านั้น ส่วนจะคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าได้ในอัตราเท่าใด ต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างธนาคารพาณิชย์กับลูกค้า ธนาคารโจทก์จึงไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นโดยจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นยินยอม การรับสภาพหนี้เป็นเพียงการยอมรับสภาพความรับผิดในมูลหนี้เดิมหาได้เป็นเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปไม่ โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ตกลงไว้ในสัญญาเป็นการไม่ชอบนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การแต่เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องว่า คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญา ข้อเท็จจริงเพิ่งปรากฎจากคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ตกลงไว้ในสัญญาในช่วงเวลาบางตอน จำเลยที่ 1 ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นได้ เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยที่ 1 จึงยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง ธนาคารโจทก์ฟ้องเรียกร้องจำนวนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีมาโดยคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามสัญญา ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าฝากหลายครั้ง มีผลให้จำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์คิดทบต้นจากยอดหนี้คงเหลือแต่ละคราวเปลี่ยนแปลงไป กรณีเช่นนี้ต่างไม่มีหน้าที่จะคำนวณยอดหนี้ที่ถูกต้องให้โจทก์ใหม่ ต่างจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ส่วนนี้เสีย โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีส่วนนี้มายื่นฟ้องไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2520จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 150,000บาท มีกำหนด 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี คิดทบต้นตามประเพณีธนาคาร หากไม่มีการต่อสัญญาให้ถือว่ามีการต่ออายุสัญญาออกไปอีกคราวละ 6 เดือนตลอดไป และจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16073 กับเลขที่ 16074 และที่ดินโฉนดเลขที่ 9480พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้สินต่าง ๆ ไว้แก่โจทก์ในวงเงิน150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาวันที่22 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 1 ได้เพิ่มวงเงินจำนองขึ้นเป็น300,000 บาท เมื่อวันที่ 29 และ 30 มกราคม 2522 จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาขายลดให้แก่โจทก์รวม 16 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,493,000 บาทโดยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ว่าค้างชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาขายลดเช็คพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 5,293,817.83 บาท แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม2522 จำเลยที่ 3 และนายจำเนียรได้ร่วมกันค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 3 กับนายจำเนียรได้ร่วมกันจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 619พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2522 จำเลยที่ 1ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2885 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ยอมรับว่าเพียงวันที่ 25 สิงหาคม 2530 จำเลยที่ 1ค้างชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 11,196,439.38 บาทหนี้ขายลดเช็ค 16 ฉบับ เป็นเงิน 3,346,564.99 บาท จะผ่อนชำระ100,000 บาท ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2530 และภายในวันที่ 19เดือนเดียวกันจะกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไปแต่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมานายจำเนียรได้ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรและภริยาเป็นทายาทโดยธรรม โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเพิกเฉย คิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 11,860,829.16 บาท และจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คเป็นเงิน 3,533,087.68 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 11,860,829.16 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 5,318,032.24บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 3,533,087.68 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,493,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระก็ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16073,16074, 619 และโฉนดเลขที่ 2885 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2502 ได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้หลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกไม่ได้ยอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีในขณะนั้นเป็นเงิน 3,790,842.27 บาทจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้รับรองว่าถูกต้อง โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คได้เพียง 5 ปี นับจากวันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเท่านั้นดอกเบี้ยก่อนหน้านั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 แล้ว จำนวนหนี้จึงไม่มากเท่าที่โจทก์ฟ้อง หนังสือขอผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 22 กันยายน 2530 นั้น จำเลยที่ 1ลงชื่อไปเพื่อช่วยเหลือนายเมธี ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสุไหงโก-ลกในขณะนั้นซึ่งจะถูกโจทก์ลงโทษให้ออก และจำเลยที่ 1ถูกขู่เข็ญว่าจะถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายเพื่อทำลายชื่อเสียงทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ตรวจสอบทางบัญชีก่อน เช็คที่ขายลดบางฉบับรับเงินได้ โดยเฉพาะเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาหาดใหญ่เลขที่ 51/79 และ 57/79 รวม 2 ฉบับ จำนวนเงิน 400,000 บาทผู้สั่งจ่ายเช็คได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 อีก ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1เพราะถูกนายมาโนชผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ขอร้องโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายเมธี ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาสุไหงโก-ลกคนก่อนทำให้เงินขาดบัญชีไปเป็นเงินจำนวนมาก ให้ทำสัญญาค้ำประกันไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงต่อสำนักงานใหญ่ ไม่ได้ประสงค์จะให้ผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2522 จำเลยที่ 1กับพนักงานของโจทก์ได้ไปหาจำเลยที่ 3 และนายจำเนียรและแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะเปิดบัญชีในวงเงิน 150,000 บาท ขอให้จำเลยที่ 3และนายจำเนียรค้ำประกันและมอบอำนาจให้จำนองที่ดินแทนนายจำเนียรและจำเลยที่ 3 จึงลงชื่อในแบบฟอร์มสัญญาค้ำประกันและหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้ไป ทั้งนายจำเนียรและจำเลยที่ 3จึงเข้าใจโดยสุจริตว่าได้ค้ำประกันและจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงินเพียง 150,000 บาท ต่อมาหลังจากที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 5 ล้านบาทเศษจำเลยที่ 3 จึงไปขอดูหลักฐานการจำนอง ปรากฏว่ามีการจำนองกันในวงเงิน 500,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นการฉ้อฉลนายจำเนียรและจำเลยที่ 3 นายจำเนียรและจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดก่อนที่จะลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน และหากจะต้องรับผิดก็ไม่เกินกว่าวงเงิน 150,000บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 11,196,439.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่มีการหักทอนบัญชี(25 สิงหาคม 2530) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (24 มิถุนายน 2531) ต้องไม่เกิน 1,398,788.04บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมรดกความของจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ขายลดเช็คเป็นเงิน3,533,087.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน1,493,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16073, 16074,9480, 619, 2885 รวม 5 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระโจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระหนี้ค่าขายลดเช็คเป็นเงิน 3,533,087.68 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,493,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองไว้ตามฟ้องออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองแต่ละฉบับพร้อมดอกเบี้ย ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันเสียทั้งหมด แต่ไปตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องในส่วนนี้มายื่นใหม่ภายในกำหนดอายุความ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด สำหรับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้อัตราร้อยละ 15 ต่อปีในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เบิกเกินบัญชีไปจากโจทก์ ยอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงวันที่ 25 สิงหาคม 2530 เป็นเงิน 11,196,439.38 บาท ตามหนังสือคำขอผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.8 ยอดหนี้ดังกล่าวเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มและลดตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดโดยโจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529ในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.29 และหนังสือขอผ่อนชำระหนี้เอกสารหมาย จ.8 ไม่ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราเท่าใดเห็นว่านอกจากตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.9 มีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี แล้ว ตามสัญญาจำนองและบันทึกต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.10 ก็มีข้อตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 15 ต่อปี โดยมิได้มีข้อความใดในสัญญาดังกล่าวให้สิทธิโจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าอัตราที่ตกลงไว้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโดยจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอมที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นประเพณีของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป เมื่อมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ให้สิทธิไว้ โจทก์จึงอาศัยสิทธิตามประกาศและกฎหมายเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาได้เพราะแม้จะเป็นการคิดดอกเบี้ยที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราตามสัญญาแต่ก็ไม่สูงเกินกว่าอัตราตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดในระหว่างเวลาที่โจทก์เปลี่ยนแปลง ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยโดยปริยาย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ว่าการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงไม่มีประเด็นที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างสูงที่ธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าเป็นเพียงให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ตกลงอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดเท่านั้น ส่วนจะคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าได้ในอัตราเท่าใด ต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างธนาคารพาณิชย์กับลูกค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นโดยจำเลยที่ 1 ไม่รู้เห็นยินยอม ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1ได้ยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยโดยปริยายนั้น โจทก์นำสืบให้เห็นไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยโดยปริยายอย่างไร การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากจำเลยที่ 1 ในอัตราเกินกว่าร้อยละ15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529ย่อมทำให้ยอดหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 11,196,439.38 บาทตามฟ้องโจทก์เป็นยอดหนี้ที่คิดดอกเบี้ยมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่ด้วย โจทก์เรียกร้องหนี้ส่วนนี้มาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้คิดยอดเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ทำไว้และตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2523เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 เบิกเงินจากบัญชีและฝากเข้าบัญชีหลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.29 ซึ่งมีผลให้จำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์คิดทบต้นจากยอดหนี้คงเหลือในแต่ละคราวเปลี่ยนแปลงไป ทั้งจำเลยที่ 1โต้เถียงว่า เอกสารหมาย จ.29 โจทก์ทำขึ้นใหม่ไม่ถูกต้อง อีกด้วยในกรณีเช่นนี้ศาลไม่มีหน้าที่จะคำนวณยอดหนี้ที่ถูกต้องให้โจทก์ใหม่แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องคำนวณยอดหนี้มาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเอง และปัญหาที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ตกลงไว้ในสัญญาเป็นการไม่ชอบนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องว่า คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญา ข้อเท็จจริงเพิ่งปรากฎจากคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าอัตราที่ตกลงไว้ในสัญญาในช่วงเวลาบางตอน จำเลยที่ 1จึงไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นได้เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยที่ 1 จึงยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไปศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกฟ้องโจทก์ส่วนนี้โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์จะนำคดีส่วนนี้มายื่นฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ฎีการวมกันมา แต่จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นฎีกานอกประเด็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เช็ค 2 ฉบับ ฉบับละ 200,000บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งนายสุมิตร สุนทรนนท์เป็นผู้สั่งจ่าย นายสุมิตรและจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ต่างหากเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2523 ตามเอกสารหมาย ล.1เป็นการแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้ตามเช็ค 2 ฉบับ ดังกล่าวระงับจำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยโจทก์ตามสัญญาขายลดเช็คไม่ถึงจำนวนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น เห็นว่าการรับสภาพหนี้เป็นเพียงการยอมรับสภาพความรับผิดในมูลหนี้เดิมหาได้เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปไม่โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาทำสัญญาขายลดให้แก่โจทก์เป็นเช็คที่ผู้อื่นสั่งจ่ายหลายฉบับเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โจทก์ต้องเรียกร้องเอาจากผู้สั่งจ่ายหรือคืนเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่าย สำหรับเช็ค 2 ฉบับที่นายสุมิตรเป็นผู้สั่งจ่ายนายสุมิตรได้ขอชำระหนี้ตามจำนวนในเช็คให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่รับชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินตามเช็ค2 ฉบับ ดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้เช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อดังกล่าวจึงเป็นฎีกานอกประเด็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายืน

Share