แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อขายซึ่งมีการวางมัดจำหรือชำระราคาบางส่วนแล้วต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองซึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แม้ไม่มีเอกสารมาแสดง เมื่อมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วหรือไม่โจทก์จึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ มิใช่เป็นการสืบพยานเพื่อหักล้างเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94อีกทั้งสัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2กับบริษัทบ.ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิมในการจองซื้อขอให้โอนให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ฉะนั้น ผู้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นอ้างได้ก็เฉพาะกรณีที่ต่อสู้กับบริษัทบ.เท่านั้น โจทก์ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกฝ่ายหนึ่งทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินซึ่งกันและกัน แต่ที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิไถ่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497(2) จำเลยที่ 3 ต้องรับการไถ่เมื่อโจทก์มีเงินจำนวนที่เป็นสินไถ่ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับโจทก์ได้นำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนพ้นกำหนดไถ่จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการไถ่ถอนการขายฝากไม่ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกนางสาวศิริอร หวังปรีชาชาญ ว่าโจทก์เรียกนายประมวลหรือกิตติพัฒน์ รื่นพรต นางสาวเอมอรหรือนางเอมอรว่องรัตนพิทักษ์ และนายเพชร กลั่นหอม ว่าจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33888-90 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินบ้านเลขที่ 600/1361ให้แก่โจทก์ พร้อมทำการโอนกรรมสิทธิ์ในการเช่าโทรศัพท์หมายเลข5239145 และสิทธิในมิเตอร์น้ำประปา ไฟฟ้า สำหรับบ้านดังกล่าวกับชำระค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยที่ 3 รับเงินที่โจทก์วางศาลเพื่อชำระหนี้ไถ่ถอนการขายฝากแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 ไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝาก หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาไถ่ถอนการขายฝาก หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน7,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้อง ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33888-90 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 600/1361 ให้แก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ทำการโอนสิทธิการเช่าเครื่องโทรศัพท์หมายเลข 5239145 สิทธิในมิเตอร์น้ำประปา ไฟฟ้า สำหรับบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1และที่ 2 มีสิทธิรับเงินจากสำนักงาน วางทรัพย์ไปจำนวน 600,000 บาทจำเลยที่ 3 มีสิทธิรับไป 2,480,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องคดีสำนวนหลัง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 600/1361 ตำบลคูคตอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมเฟอร์นิเจอร์ รวมราคา 6,000,000 บาท และโต๊ะอาหารแกะสลัก1 ชุด ราคา 50,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขาย เอกสารหมาย จ.8และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขาย ที่ดินและบ้านเลขที่229/13 ซอยเฉลิมสุข เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ราคา2,400,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขาย เอกสารหมาย จ.9 ที่ดินและบ้านเลขที่ 600/1361 จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2532 กำหนดระยะเวลา 1 ปี จำนวนเงิน 2,480,000 บาท ส่วนที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 229/13 เป็นขอบริษัทบ้านทิพย์รัตน์ จำกัด สัญญาจะซื้อขายทั้งสองฉบับดังกล่าวกำหนดวันจดทะเบียนและชำระราคาที่เหลือในวันเดียวกันคือวันที่ 30 สิงหาคม 2533 ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2533บริษัทบ้านทิพย์รัตน์ จำกัด จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านเลขที่229/13 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12ครั้นวันที่ 30 สิงหาคม 2533 โจทก์กับพวกไปพบผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมกับจำเลยที่ 3 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี แต่ไม่อาจตกลงกันได้ โดยฝ่ายจำเลยจะให้โจทก์ชำระเงิน 5,080,000 บาท ส่วนโจทก์อ้างว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1และที่ 2 ยังค้างชำระเงินค่าที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 229/13 อยู่1,900,000 บาท จึงต้องหักเงินดังกล่าวออกจากจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินไว้คนละ 1 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.24 และ ล.2ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2533 โจทก์นำเงินไปวางที่ สำนักงานวางทรัพย์ศาลจังหวัดธัญบุรี ตามเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.21
ปัญหาต้องวินิจฉัยในลำดับแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสามที่เป็นข้อกฎหมายว่าโจทก์มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบหักล้างเอกสารหมาย จ.11ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 229/13 หรือไม่ เห็นว่าสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.11 เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายมีการวางมัดจำหรือชำระราคาบางส่วนไว้แล้ว เข้ากรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งอาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แม้ไม่มีเอกสารแสดงเมื่อมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วหรือไม่โจทก์จึงมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ มิใช่เป็นการสืบพยานเพื่อหักล้างเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และเอกสาร จ.11เป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทบ้านทิพย์รัตน์ จำกัด กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นอ้างก็เฉพาะกรณีที่ใช้ต่อสู้กับบริษัทบ้านทิพย์รัตน์ จำกัดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่ายังไม่ได้รับชำระราคาตามสัญญาจะซื้อขาย เอกสารหมาย จ.9เพราะจะนำไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.8 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปคือ โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งมีข้อที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า โจทก์ได้รับชำระเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 229/13 หรือยัง โจทก์มีตัวโจทก์กับนายคมกฤชเบิกความว่าเนื่องจากบริษัทบ้านทิพย์รัตน์ จำกัด เร่งให้โจทก์รับโอนที่ดินและบ้านดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์ได้ขายให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ไปแล้ว จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับโอนจากบริษัทบ้านทิพย์รัตน์ จำกัด โดยไม่ต้องผ่านโจทก์ และนัดจดทะเบียนโอนในวันที่ 10 สิงหาคม 2533 แต่เนื่องจากโจทก์ได้ชำระค่าที่ดินและบ้านครบถ้วนแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.2 การโอนตรงไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเพียงเพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ส่วนการชำระเงินคงเป็นไปตามสัญญาแต่เนื่องจากว่าโจทก์ต้องชำระค่าที่ดินและบ้านเลขที่ 600/1361จึงตกลงว่าจะหักเงินดังกล่าวออกจากเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจะถึงกำหนดชำระในอีก 20 วันต่อมาส่วนจำเลยนำสืบว่าโจทก์เร่ง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับโอนโดยจะลดราคาให้ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงได้ไปขอยืมเงินจากนายชนะจำนวน 1,800,000 บาท ให้ผลประโยชน์ตอบแทน200,000 บาท โดยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้แก่นายชนะจำนวน2,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.5 ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำสืบจะได้พิจารณาต่อไป ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ฎีกาว่าข้อตำหนิของศาลอุทธรณ์เรื่องที่จำเลยที่ 1 เบิกความแตกต่างกับนายชนะในเรื่องจำนวนเงินที่ยืมมาชำระให้โจทก์ และเมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายชนะก็มิได้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่านอกจากข้อแตกต่างดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ในวันเดียวกัน กำหนดวันถึงกำหนดชำระเงินที่เหลือในวันจดทะเบียนโอนไว้ในวันเดียวกันแสดงว่าคู่กรณีมีเจตนาจะให้สัญญาทั้งสองฉบับมีความเกี่ยวเนื่องกันดังจะเห็นได้ว่าเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.9ก็นำไปหักจากเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.8โดยบันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.8 ว่า โจทก์ชำระเป็นเช็คให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 550,000 บาท ซึ่งตรงกับผลต่างของเงินมัดจำตามสัญญาทั้งสองฉบับ กับค่าโต๊ะอาหารแกะสลักทางนำสืบของโจทก์จึงน่าเชื่อว่าเงินจำนวน 1,900,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระให้โจทก์นั้นมีการตกลงให้หักกับเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในตอนที่โจทก์จะรับโอนที่ดินและบ้านจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และอีกประการหนึ่งสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ประโยชน์จากเงื่อนเวลานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 และ 192 หากโจทก์เร่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติก่อนกำหนด จำเลยที่ 1 และที่ 2ย่อมมีสิทธิปฏิเสธได้ อีกทั้งระยะเวลาเหลืออีกเพียง 20 วันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็จะได้รับชำระเงินตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.8 แล้ว เหตุใดจึงยอมเสียผลประโยชน์จากการไปยืมเงินนายชนะถึง 200,000 บาท ทั้ง ๆ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ลดราคาให้เพียง 100,000 บาท เท่านั้นเป็นการผิดวิสัยที่จำเลยที่ 1และที่ 2 จะยอมเสียประโยชน์ 100,000 บาท โดยที่มีสิทธิได้ประโยชน์จากเงื่อนเวลาดังที่กล่าวมาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้ชำระราคาให้โจทก์ในการรับโอนที่ดินและบ้านเลขที่ 229/13 เนื่องจากมีการตกลงว่าจะนำมาหักจากจำนวนเงินที่โจทก์จะชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2533
เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้ชำระเงินให้โจทก์1,900,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1และที่ 2 จะมีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.1 แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติและโจทก์จะได้รับหนังสือนั้นแล้ว โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคงปฏิบัติเฉพาะในข้อที่จะต้องแยกจำนวนเงินไปชำระให้จำเลยที่ 3ผู้รับซื้อฝากเท่านั้น และเมื่อถึงวันนัดโจทก์กับพวกก็ไปยังสำนักงานที่ดินเพื่อรับโอนที่ดินและบ้านตามสัญญา แต่ที่ตกลงกันไม่ได้ เพราะฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับว่ายังค้างชำระเงินโจทก์อยู่1,900,000 บาท ที่โจทก์ขอหักกลบลบหนี้กันนั้น แม้ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิจะกระทำแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ แต่เมื่อไม่ยอมให้โจทก์หักกลบลบหนี้ ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะทำได้ ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ผิดสัญญา ส่วนกรณีที่มีบันทึกตามเอกสารหมาย จ.24 และ ล.2 ไม่ว่าฝ่ายใดจะนำยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินก่อนก็ไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาอีกข้อหนึ่งคือโจทก์มีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากจากจำเลยที่ 3 หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันคือ ที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 600/1361 จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2532 กำหนดเวลาไถ่ถอน 1 ปี จำนวนเงินที่เป็นสินไถ่ คือ 2,480,000 บาท และโจทก์ได้นำแคชเชียร์เช็คสำหรับเงินจำนวนดังกล่าวไปที่สำนักงานที่ดินในวันที่ 30 สิงหาคม 2533 ด้วย โดยจำเลยที่ 3 ทราบว่าฝ่ายโจทก์มีเงินจำนวนนั้น ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2533 โจทก์ได้นำแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ ศาลจังหวัดธัญบุรีระบุว่าเพื่อชำระให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นค่าไถ่ถอนการขายฝากและเหตุที่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับชำระเงินในวันที่ 30 สิงหาคม 2533เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันไม่ได้ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 กำหนดบุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก และใน (2) กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธินั้นมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับการไถ่ แม้ว่าจะมิใช่คู่สัญญาขายฝากก็ตาม เมื่อโจทก์มีเงินจำนวนที่เป็นสินไถ่ในวันที่ 30 สิงหาคม 2533 แต่จำเลยที่ 3ไม่ยอมรับ โจทก์จึงนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ในวันที่31 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นเวลาก่อนพ้นกำหนดไถ่ทรัพย์สิน ตามสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธไม่ยอมรับการไถ่ถอนการขายฝากไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน