คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6261/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้หากจะฟังว่า จำเลยที่ 2 ห้ามหรือกำชับโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 ว่าไม่เซ็นและหย่าได้ไปเซ็นสัญญาใด ๆ กันอีก จำเลยที่ 2 ไม่รับรู้ด้วย แล้วจำเลยที่ 2 ออกจากศาลไปก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ถอนทนายของตนแล้วเพราะการถอนทนายจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน เมื่อจำเลยทั้งสองแต่งตั้งให้ทนายของตนมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ได้และศาลได้พิพากษาตามยอมแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง ในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสองเพียงแต่ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดี ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องเสียเพียง 200 บาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 222เนื้อที่ 25 ไร่ 92 ตารางวา จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว เป็น น.ส.3 ก.และได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินติดต่อกับที่ดินดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองเพิ่มเติม เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดและเปลี่ยน น.ส.3 ของจำเลยที่ 1 เป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 770 ระบุเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 46 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้จำนองและขายฝากที่ดินดังกล่าวแก่บุคคลอื่นหลายครั้งในที่สุดที่ดินตกเป็นของโจทก์โดยการขายฝาก ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำน.ส. 3 เลขที่ 222 ดังกล่าวข้างต้นไปขอเปลี่ยนเป็น น.ส. 3ก.และนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดอีกครั้งหนึ่ง โดยปกปิดมิได้แจ้งข้อความจริงให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินเข้าใจผิดและได้ออก น.ส. 3ก. เลขที่ 2917 ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งสองไปขอเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2917ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองมีที่ดินเนื้อที่ประมาณ 67 ไร่ แต่จำเลยที่ 1 ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 222 เพียง 25 ไร่ ซึ่งต่อมาได้ขอเปลี่ยนเป็น น.ส.3ก. เลขที่ 770 เนื้อที่ 46 ไร่ ส่วนที่ดินที่ยังเหลือประมาณ 21 ไร่ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองนั้น ได้นำไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ จำเลยที่ 1ไม่เคยขอออก น.ส.3ก. ทับที่ดินของโจทก์
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยทั้งสองยอมรับว่าที่ดินตาม น.ส.3ก. เลขที่ 2917ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 21 ไร่2 งาน 40 ตารางวา ของจำเลยที่ 2 มีเนื้อที่ดินทั้งแปลงทับอยู่ในที่ดินตาม น.ส.3ก. เลขที่ 770 ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือจังหวัดขอนแก่น ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจะไปขอเพิกถอน น.ส.3ก.เลขที่ 2917 ภายในกำหนด 1 เดือน ถ้าไม่ไปให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นโดยการร่วมกันฉ้อฉลของทนายโจทก์และทนายจำเลย เพราะจำเลยที่ 2มิได้ตกลงยอมความและสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เนื่องจากที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้ทับที่ดินโจทก์ขอให้พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เกลี้ยกล่อมหรือฉ้อฉลทนายจำเลยทั้งสองอย่างไร ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ห้าม หรือกำชับโจทก์และทนายจำเลยทั้งสองว่าไม่เซ็นและอย่าได้ไปเซ็นสัญญาใด ๆ กันอีก จำเลยที่ 2 ไม่รับรู้ด้วยแล้วจำเลยที่ 2 ออกไปจากศาลนั้น แม้จะเป็นความจริงก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ถอนทนายของตนแล้ว เพราะการถอนทนายจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 65 เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแต่งตั้งให้ทนายของตนมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ได้ และศาลได้พิพากษาไปตามยอมแล้วเช่นนี้ คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันจำเลยทั้งสองหากทนายจำเลยทั้งสองจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็เป็นความบกพร่องของทนายจำเลยทั้งสองเองจำเลยทั้งสองจะอ้างว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลไปโดยถูกฝ่ายโจทก์ฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138(1)หาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้พิจารณาคดีใหม่ มิได้อุทธรณ์ขอให้ชนะคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้เดิมคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์แต่ในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสองเพียงแต่ขอให้สั่งศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ ไม่ได้ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดี ดังนั้นค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสองจึงควรเสียเพียง 200 บาทตามตาราง 1 ข้อ 2ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2521 มาตรา 5 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น อนึ่งปรากฏว่าในชั้นฎีกาจำเลยทั้งสองก็เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์อีก จึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสองด้วย”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน200 บาท ให้จำเลยทั้งสอง.

Share