คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงสี่ชั้น แต่ทำการก่อสร้างเป็นอาคารสูงห้าชั้นเป็นการก่อสร้างเพิ่มทั้งจำนวนชั้นและความสูงของอาคาร เมื่อความสูงของอาคารเป็นส่วนที่จะต้องนำมาใช้คำนวณโครงสร้างของอาคารตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การก่อสร้างอาคารของจำเลย จึงเป็นการเพิ่มเติมส่วนที่เป็นโครงสร้างของอาคารเป็นการต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันก่อสร้างอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนรวม 200 วัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 42, 47,65, 67, 69, 70, 71 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 368ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 35(5), 72, 76(4)
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างอาคารที่พิพาทเป็นห้าชั้นโดยที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างสี่ชั้นนั้นเป็นการก่อสร้างที่ผิดไปจากแบบแปลนหรือไม่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 บัญญัติว่า “ห้ามผู้ใดจัดให้มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตทั้งนี้เว้นแต่
……….
(2) เป็นกรณีที่กำหนดตามกฎกระทรวง…” กฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ. 2528) ออกตามความพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 1 กำหนดว่า “การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารคือ…
(3) การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของส่วนต่าง ๆของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ” ตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่า ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อเติมส่วนที่เป็นโครงสร้างของอาคารแล้วจะกระทำมิได้ ต้องห้ามตามมาตรา 31 ตามที่กล่าวข้างต้น แต่ถ้ามิใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างของอาคารถ้าไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบก็สามารถกระทำได้ตามกฎกระทรวงดังกล่าวโดยไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 31 ข้อที่จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นก็คือ การที่จำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทชั้นที่ห้านั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อเติมส่วนที่เป็นโครงสร้างหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติ ควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2522 ก็ดี กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ก็ดี มิได้ให้ความหมายของคำว่าโครงสร้างอาคารไว้ว่ามีความหมายอย่างไร จึงต้องแปลความหมายของคำว่าโครงสร้างอาคารตามความหมายในพจนานุกรม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 นั้น โครงสร้างหมายถึงส่วนประกอบสำคัญ ๆที่มาคุมเข้าด้วยกัน พื้นของอาคารนั้นเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาคาร นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6(พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 17 ที่กำหนดว่า “ในการคำนวณออกแบบโครงสร้างอาคาร ให้คำนึงถึงแรงลมด้วย…” ซึ่งตามตารางที่ใช้ในการคำนวณแรงลมตามข้อนี้นั้น ความสูงของอาคารหรือส่วนของอาคาร ในการคำนวณหน่วยแรงลมนั้นจะแตกต่างกันไปตามความสูง ถ้าส่วนสูงของอาคารน้อย หน่วยแรงลมที่ใช้ในการคำนวณก็น้อย ถ้าความสูงมากขึ้นหน่วยแรงลมที่ใช้ในการคำนวณก็มากขึ้น และตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 64 ก็กำหนดไว้ในทำนองเดียวกัน ดังนั้นความสูงของอาคารจึงเป็นส่วนที่ต้องมาคำนวณในการออกแบบโครงสร้างตามกฎกระทรวงฉบับนี้ข้อ 19 ก็มีข้อกำหนดเช่นเดียวกันกับข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 66 คือการคำนวณน้ำหนักที่ถ่ายลงเสา คานหรือโครงที่รับเสาหรือฐานรากนั้น ตามตารางที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดดังกล่าวได้กำหนดน้ำหนักและอัตราการลดน้ำหนักบรรทุกของพื้นแต่ละชั้นไว้ต่างกัน ดังนั้นจำนวนชั้นของพื้นจึงเป็นส่วนที่ต้องนำมาพิจารณาในการคำนวณน้ำหนักที่ถ่ายลงเสา คานหรือโครงที่รับเสาหรือฐานรากด้วย เมื่อพิจารณาคำว่าโครงสร้างตามความหมายที่ให้ไว้ตามพจนานุกรมประกอบกับกฎกระทรวงและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ตามที่กล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างเพิ่มเติมจากแบบเดิมที่มีสี่ชั้นเป็นห้าชั้นนั้น เป็นการเพิ่มทั้งจำนวนชั้นของพื้นและความสูงของอาคารอันเป็นการเพิ่มส่วนที่จะต้องนำมาใช้ในการคำนวณโครงสร้างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ต้องถือว่าเป็นการเพิ่มเติมส่วนที่เป็นโครงสร้างของอาคาร เป็นการต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 42 วรรคสอง, 65 และ 71 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ35(5) สำหรับจำเลยที่ 1 ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 69 ด้วย ลงโทษในกระทงความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลน ปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 3,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,500 บาท ในกระทงความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งไม่รื้อถอน ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาทจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,000 บาท และปรับจำเลยที่ 1 อีกวันละ 1,000บาท จำเลยที่ 2 อีกวันละ 500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนแล้วเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

Share