แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนพนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษโจทก์คดีนี้ข้อหาบุกรุกที่ดินของจำเลย ศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ขาดเจตนาในการกระทำความผิด คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์และบุตรสาวโจทก์เข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทดังกล่าวอีก จำเลยก็ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์และบุตรสาวโจทก์เข้าไปบุกรุกที่ดินพิพาทของจำเลย โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยและห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท เช่นนี้ คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวข้างต้น ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 โจทก์จะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยอาศัยสิทธิที่โจทก์มีมาก่อนที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้พิพากษาไปแล้ว และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2504 สามีโจทก์ซื้อที่ดิน 1 แปลงกว้าง 11 เส้น ยาว 11 เส้น โจทก์และสามีครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เมื่อประมาณปี 2518 ทางราชการได้ตัดถนนผ่าน ทำให้ที่ดินของโจทก์และสามีถูกแบ่งเป็นสองแปลง เป็นแปลงฝั่งถนนทางทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 118 ไร่ และแปลงฝั่งถนนทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา คือแปลงในเส้นสีแดงตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ต่อมาเมื่อปี 2521 สามีโจทก์ได้ขอออก น.ส.3แต่ทางราชการออกให้เฉพาะแปลงฝั่งถนนทางทิศตะวันออก ส่วนแปลงฝั่งถนนทางทิศตะวันตก เนื้อที่ไม่ถึง 1 ไร่ ทางราชการจึงไม่ออกน.ส.3 ให้ แต่โจทก์และสามีก็ยังครอบครองทำประโยชน์จนถึงปี 2528จำเลยอ้างว่าที่ดินแปลงฝั่งถนนทางทิศตะวันตกเป็นของจำเลย และร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวจนโจทก์ถูกพนักงานอัยการดำเนินคดี แต่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะบุกรุก แต่ที่โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินเป็นของตน ต่อมาเมื่อบุตรสาวโจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในปี 2529 จำเลยก็ร้องทุกข์กล่าวหาอีกการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิและรบกวนการครอบครองที่ดินโดยปกติสุขของโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินแปลงในเส้นสีแดงตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการครอบครอง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของจำเลย ทางราชการไม่เคยตัดถนนผ่านที่ดินของโจทก์ โจทก์กับบริวารไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของเนื้อที่ประมาณ 54 ตารางวา มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจดทางหลวงจังหวัดสายหนองผือ-กุดข้าวปุ้น ทิศใต้จดทางสาธารณประโยชน์และทิศตะวันตกจดแนวคันนาซึ่งแบ่งที่ดินของจำเลยไว้ เมื่อปี 2528โจทก์เข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทจำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่ดินของจำเลย พนักงานอัยการได้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษโจทก์แต่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาท ของจำเลยเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ขาดเจตนาในการกระทำความผิดคดีถึงที่สุดแล้วปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 944/2528 หมายเลขแดงที่ 985/2528 ของศาลชั้นต้น ต่อมาในปี 2529 โจทก์และบุตรสาวโจทก์ได้เข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทดังกล่าวอีกจำเลยก็ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์และบุตรสาวโจทก์เข้าไปบุกรุกที่ดินพิพาทของจำเลยโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยและห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยหรือไม่ และโจทก์จะขอให้ศาลห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 985/2528 ของศาลชั้นต้นในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวนี้ย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 195 ดังนั้น โจทก์จะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยอาศัยสิทธิที่โจทก์มีมาก่อนที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้พิพากษาไปแล้ว และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันดังกล่าวนี้ไม่ได้
พิพากษายืน.