แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขเสียใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้ ถ้าเห็นว่าค่ารายปีที่กำหนดตามค่าเช่าเดิมนั้นมิใช่จำนวนอันเป็นการจะให้เช่าได้ในปีที่จะเรียกเก็บภาษีนั้น ฟ้องโจทก์มิได้ยกขึ้นเลยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้น จึงต้องถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุพึงกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้น ส่วนที่กำหนดเพิ่มใหม่จะเป็นค่ารายปีที่ชอบหรือไม่นั้น โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่า ค่ารายปีที่ประเมินใหม่นั้นเป็นค่ารายปีที่สูงกว่าค่าเช่าที่อาจให้เช่าได้ในปีนั้น โจทก์มิได้นำสืบในข้อนี้กรณีต้องฟังว่าค่ารายปีที่เจ้าพนักงานประเมินใหม่นั้นเป็นการประเมินที่ชอบ โรงเรือนที่จะได้รับการยกเว้นมิต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 9(5) จะต้องเป็นโรงเรือนที่ปิดไว้ตลอดปี และเจ้าของมิได้อยู่เองหรือให้ผู้อื่นอยู่ นอกจากคนเฝ้าในโรงเรือน โรงเรือนที่พิพาทนั้นมิใช่โรงเรือนที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอยู่เอง การที่ข้อเท็จจริงยุติเพียงว่า โรงเรือนที่พิพาทมิได้ให้เช่านั้นมิได้หมายความว่าโรงเรือนนั้นจะมิได้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นอันจะถือได้เหมือนกับเป็นโรงเรือนซึ่งปิดไว้ตลอดปี ดังนั้นโรงเรือนที่พิพาทของโจทก์จึงไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2532 ฉบับเลขที่ 57 เล่มที่ 8ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2532 ซึ่งจำเลยส่งไปยังโจทก์เฉพาะรายการบ้านเลขที่ 636/2-4, 172/1, 1158/3, 1530/5-10, 12 และ 1530/13,15-19, 21 และคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 27 ตุลาคม 2532เฉพาะรายการของบ้านเลขที่ 636/2-4, 172/1, 1158/3, 1530/5-10,12 และบ้านเลขที่ 1530/13, 15-19, 21 ของสำนักงานเทศบาลเมืองศรีสะเกษเสียกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระเกินจำนวน 6,350 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีของจำเลยที่ 1ดังกล่าวเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 1 ประเมินภาษีบ้านเลขที่ 636/2-4 ตามฟ้องในปี 2529 ถึง 2532 สูงขึ้นจากปี 2528 ถึงร้อยละ 36 และบ้านเลขที่172/1, บ้านเลขที่ 1158/3, บ้านเลขที่ 1530/5-10, 12 และบ้านเลขที่1530/13, 15-19, 21 ตามฟ้อง ไม่มีคนเช่าตลอดปี 2531 และตกลงขอให้ศาลวินิจฉัยเพียง 2 ประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจประเมินภาษีบ้านเลขที่ 636/2-4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ได้หรือไม่ประเด็นที่ 2 ว่าในกรณีที่บ้านของโจทก์ไม่มีผู้เช่าตลอดปีนั้นโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนหรือไม่ โดยโจทก์และจำเลยที่ 1ไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจประเมินค่ารายปีบ้านเลขที่ 636/2-4 ตามที่แจ้งประเมินหรือไม่ ในเรื่องนี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 8 บัญญัติว่า “ค่าภาษีตามภาค 1 นี้ ให้ผู้รับประเมินชำระปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สินคือโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดิน…
“ค่ารายปี” ตามภาค 1 นี้ ให้หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่า ท่านว่าค่าเช่านั้นเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ไซร้ ท่านว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่” จึงเห็นได้ว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขค่ารายปีเสียใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้ ถ้าเห็นว่าค่ารายปีที่กำหนดตามค่าเช่าเดิมนั้นมิใช่จำนวนอันเป็นการจะให้เช่าได้ในปีที่จะเรียกเก็บภาษีนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยกขึ้นเลยว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้น จึงต้องถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุฟังกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้น ส่วนที่กำหนดเพิ่มใหม่จะเป็นค่ารายปีที่ชอบหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยรับกันได้ความว่า ค่ารายปีที่กำหนดใหม่นั้นพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดสูงกว่าปีก่อนร้อยละ 36 จำนวนค่ารายปีที่สูงกว่าปีก่อนร้อยละเท่าใดนั้นไม่เป็นการแน่นอนที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นค่ารายปีที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงค่ารายปีที่กำหนดจะชอบหรือไม่นั้นอยู่ที่ว่าเป็นค่ารายปีที่กำหนดจากค่าเช่าที่อาจให้เช่าได้เป็นหลักหรือไม่ โจทก์อ้างว่าค่ารายปีที่ประเมินใหม่ไม่ชอบ โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นเป็นเบื้องต้นว่า ค่ารายปีที่ประเมินใหม่นั้นเป็นค่ารายปีที่สูงกว่าค่าเช่าที่อาจให้เช่าได้ในปีนั้นแต่โจทก์ก็มิได้นำสืบในข้อนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นข้ออ้างในคำฟ้อง ต้องฟังว่าค่ารายปีที่เจ้าพนักงานประเมินใหม่นั้นเป็นการประเมินที่ชอบอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โรงเรือนที่โจทก์ไม่ได้ให้เช่าตลอดปีนั้น โจทก์จะต้องชำระภาษีหรือไม่ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินดั่งต่อไปนี้ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้
(5) โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งปิดไว้ตลอดปีและเจ้าของมิได้อยู่เองหรือให้ผู้อื่นอยู่ นอกจากคนเฝ้าในโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ หรือในที่ดินซึ่งใช้ติดต่อกัน”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า โรงเรือนที่จะได้รับยกเว้นมิต้องเสียภาษีจะต้องเป็นโรงเรือนที่ปิดไว้ตลอดปี โรงเรือนที่พิพาทนั้นมิใช่โรงเรือนที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอยู่เอง การที่ข้อเท็จจริงยุติเพียงว่า โรงเรือนที่พิพาทโจทก์มิได้ให้เช่านั้นมิได้หมายความว่าโรงเรือนนั้นจะมิได้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นอันจะถือได้เหมือนกับเป็นโรงเรือนซึ่งปิดไว้ตลอดปี ตามที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายข้างต้น ดังนั้น โรงเรือนที่พิพาทของโจทก์จึงไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือน พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนที่พิพาทจึงเป็นการชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.