คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5996/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรที่ มท 0613.01/2792กำหนดให้นายทะเบียนคนต่างด้าวทุกแห่งทราบและถือปฏิบัติ 3 ข้อ และมีข้อความตอนสุดท้ายว่า “จึงแจ้งมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” เป็นคำสั่งกำหนดวิธีปฏิบัติอันเป็นขั้นตอนในการพิจารณาคำร้องขอให้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว จำเลยที่ 2ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวนี้มิใช่การปฏิเสธไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยทั้งสองยังมิได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองทั้งสี่สำนวนให้การมีใจความว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีคุณสมบัติที่จะขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เพราะโจทก์ทั้งสี่ไม่มีและไม่แสดงหลักฐานให้ถูกต้องว่าโจทก์ทั้งสี่เกิดในประเทศไทยและถูกถอนสัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าวซึ่งถูกถอนสัญชาติไทย และเป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปฏิเสธไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนคนต่างด้าวอำเภอเมืองหนองคาย หรือจำเลยที่ 2 ในฐานะปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1 ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ทั้งสี่ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองทั้งสี่สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองหนองคาย มีอำนาจหน้าที่เป็นนายทะเบียนคนต่างด้าวในเขตท้องที่อำเภอเมืองหนองคายจังหวัดหนองคาย โดยตำแหน่ง ส่วนโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีเชื้อชาติและสัญชาติญวน เจ้าหน้าที่ได้จัดทำบัตรประจำตัวญวนอพยพให้โจทก์ทั้งสี่ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.24 จ.28 จ.31 และ จ.34 ตามลำดับเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2529 โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนคนต่างด้าว สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองหนองคาย ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.12 โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรของคนญวนอพยพที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดแต่ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ปฏิบัติราชการในวันดังกล่าว จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวนปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1ได้รับคำร้องและหลักฐานประกอบคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ไว้ดำเนินการต่อไปตามหนังสือของกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรที่ มท. 0613.01/2792 ลงวันที่ 10 กันยายน 2528 เรื่องคนญวนอพยพที่ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ยื่นขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เอกสารหมาย ล.2 ซึ่งกำหนดให้นายทะเบียนคนต่างด้าวทุกแห่งทราบและถือปฏิบัติดังนี้
1. ให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนคนต่างด้าวรับคำร้องพร้อมรูปถ่ายและหลักฐานประกอบเรื่องไว้
2. ให้นายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่ที่รับคำร้องรวบรวมเรื่องส่งให้กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรพิจารณา
3. ให้นายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่แจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบด้วยว่า เมื่อกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรพิจารณาสิ้นสุดผลเป็นประการใดจะได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบ
หลังจากจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวครบทั้งสามข้อโดยแจ้งให้โจทก์ทั้งสี่ทราบตามข้อ 3. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529โจทก์ทั้งสี่ได้มอบให้ทนายความีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรีบออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแก่โจทก์ทั้งสี่ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองหนองคายได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยเซ็นชื่อในใบตอบรับไปรษณีย์เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2530 แต่จำเลยทั้งสองมิได้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ภายใน 7 วัน นับแต่วันดังกล่าว
ปัญหาสมควรวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่นมีว่า การที่จำเลยที่ 2ปฏิบัติตามหนังสือของกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร โดยส่งคำร้องรูปถ่าย และหลักฐานประกอบคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ไปยังกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรเพื่อพิจารณาเป็นการปฏิเสธไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามคำร้องของโจทก์ทั้งสี่อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนังสือกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรที่ มท 0613.01/2792ตามเอกสารหมาย ล.2 ดังกล่าวข้างต้น มีข้อความตอนสุดท้ายว่า”จึงแจ้งมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” เป็นคำสั่งกำหนดวิธีปฏิบัติอันเป็นขั้นตอนในการพิจารณาคำร้องขอให้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวนี้มิใช่การปฏิเสธไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยทั้งสองยังมิได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองต่อไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำนวน.

Share