คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5972/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินได้ตามมูลหนี้เดิมอยู่แล้วแม้ในบันทึกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จะมีข้อความว่า ส่วนทรัพย์สินของ อ. ที่โจทก์ยึดและอายัดไว้โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้ครบต่อไปก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อสงวนสิทธิของโจทก์ที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของ อ. ที่โจทก์ยึดและอายัดไว้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อความที่บังคับไว้ให้โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของ อ. หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของ อ. แล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้เสียก่อนไม่จึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนอันจะทำให้นิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 145 บัญญัติไว้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 วางหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอทุเลาการบังคับคดีให้แก่นางอนงค์ เชาวนะกิจ ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 3946/2527 ของศาลแพ่งธนบุรี และโจทก์ได้ยึดหลักทรัพย์ของผู้ค้ำประกันรอประกาศขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้จำเลยที่ 1 ขอลดหนี้เพื่อชำระแก่โจทก์โดยไม่ต้องขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ลงเหลือเพียง 210,000 บาท พร้อมชำระแคชเชียร์เช็คให้โจทก์ 200,000 บาท ที่เหลืออีก 10,000 บาท ให้โจทก์ดำเนินการขายทอดตลาดหลักทรัพย์ของนางอนงค์ หากขายไม่ได้ถึง10,000 บาท จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดใช้เงินจำนวน 10,000 บาทแก่โจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 10,000 บาท มอบให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ล่วงหน้าตามบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ในการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่สามารถขายได้เนื่องจากผู้ประมูลให้ราคาต่ำ โจทก์จึงนำเช็คฝากเข้าบัญชี เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมามีการขายทอดตลาดอีกครั้งแต่ขายได้เพียงชิ้นเดียวเป็นเงิน 180 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้อง และจำเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทให้โจทก์ไว้จริง แต่บันทึกข้อตกลงมีเงื่อนไขบังคับก่อน คือโจทก์ต้องบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของนางอนงค์ที่ยึดไว้ก่อนแต่โจทก์ถอนการยึดและอายัดทรัพย์ดังกล่าว กรณีจึงเป็นการยึดแล้วไม่มีการขาย อันเป็นทางให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบ ถือว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขกรณีจึงเป็นเรื่องที่ลูกหนี้ไม่ต้องใช้หนี้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ออกเช็คพิพาทให้โจทก์ไว้เป็นประกัน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แทนลูกหนี้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน9,820 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนเพราะมีข้อกำหนดไว้ว่า โจทก์จะต้องดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของนางอนงค์ที่โจทก์ยึดและอายัดไว้เสียก่อน ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับความเป็นผลของนิติกรรม เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอนว่าทรัพย์ของนางอนงค์เมื่อขายทอดตลาดแล้วจะได้เงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ซึ่งอาจได้เงินมากกว่าหรือน้อยกว่า 10,000 บาท ก็ได้ เมื่อเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ สิทธิตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เกิดขึ้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอย่างเจ้าหนี้ตามมูลหนี้ในบันทึกข้อตกลงและตามเช็คจำเลยทั้งสองไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ปัญหาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144บัญญัติไว้ดังนี้ “ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอนข้อความเช่นนั้นท่านเรียกว่า เงื่อนไข” และมาตรา 145 บัญญัติว่า “นิติกรรมใดมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว…” ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องในส่วนที่จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธประกอบเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2ที่คู่ความรับกันและข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนสรุปได้ว่า นางอนงค์เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วรวมเป็นเงิน 230,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้จำนวนดังกล่าวในศาล โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของนางอนงค์กับของจำเลยที่ 1 เพื่อจะขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จึงได้ตกลงกับโจทก์วันที่ 10เมษายน 2529 ขอลดความรับผิดลงเหลือ 210,000 บาท แล้วได้มอบแคชเชียร์เช็ค จำนวน 200,000 บาท กับเช็คที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายเงินจำนวน 10,000 บาท ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2529ให้แก่โจทก์ไว้ตามมูลหนี้ดังกล่าวในวันทำสัญญา โจทก์ตกลงจะถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันที่ 11เมษายน 2529 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการถอนการยึดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ส่วนทรัพย์สินของนางอนงค์นั้นโจทก์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป หากในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของนางอนงค์ได้เงินไม่ถึง 10,000 บาท จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินให้โจทก์ให้ครบ 10,000 บาท ถ้าขายทอดตลาดได้เงินกว่า 10,000 บาทโจทก์จะคืนเช็คของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ดังนี้ เห็นว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 210,000 บาทได้ตามมูลหนี้เดิมที่จำเลยที่ 1 ขอลดลงและจากเช็คทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 มอบแก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ตามมูลหนี้ดังกล่าวได้อยู่แล้ว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หาได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าหากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ของนางอนงค์เกิดขึ้นจำเลยที่ 1จึงจะรับผิดชำระเงินจำนวน 210,000 บาท แก่โจทก์หรือหากขายทอดตลาดทรัพย์ของนางอนงค์แล้วได้เงินไม่ถึง 10,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงจะรับผิดชำระเงินจำนวน 210,000 บาท แก่โจทก์ ข้อความในบันทึกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ที่ว่า ส่วนทรัพย์สินของนางอนงค์ที่โจทก์ยึดและอายัดไว้ โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลรวมทั้งค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อไปนั้น เป็นเพียงข้อสงวนสิทธิของโจทก์ในการที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเอาจากทรัพย์สินของนางอนงค์ที่โจทก์ได้นำยึดและอายัดไว้แล้วเท่านั้น มิใช่ข้อความที่บังคับไว้ให้โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน210,000 บาท ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของนางอนงค์เกิดขึ้นหรือต่อเมื่อมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของนางอนงค์แล้วได้เงินไม่ถึง 10,000 บาท เกิดขึ้นเสียก่อนไม่ บันทึกข้อตกลงตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จึงมิใช่นิติกรรมที่มีเงื่อนไขเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนอันจะทำให้นิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้วตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 บัญญัติไว้ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share