คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ล. 2 นัดและยิง น. 1 นัด เป็นเหตุให้ล. และ น. ถึงแก่ความตาย โดยจำเลยยิงในเวลาต่อเนื่องกันแสดงว่าในการยิงปืนแต่ละนัดความประสงค์และจุดมุ่งหมายของจำเลยได้แยกออกจากกันว่ากระสุนนัดใด จำเลยยิงผู้ตายคนใด เจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสองในขณะกระทำความผิด จึงแยกออกจากกันได้การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงเป็นเหตุให้นายเล็กถึงแก่ความตาย และยิงนางนวลหรือแวว รักดี จำนวน 1 นัด ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 288 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การว่า ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายเล็ก แซ่ลิ้ม กับนางนวลหรือแวว รักดี ถึงแก่ความตายจริง เนื่องจากผู้ตายกระทำการข่มเหงทางจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยบันดาลโทสะจึงใช้อาวุธปืนยิงคนทั้งสองถึงแก่ความตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปฐานฆ่านายเล็ก แซ่ลิ้ม จำคุก 20 ปี ฐานฆ่านางนวล หรือแววรักดี จำคุก 20 ปี รวมจำคุก 40 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกจำเลยไว้ 20 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 20 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลย15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานฆ่านายเล็ก แซ่ลิ้มและฐานฆ่านางนวลหรือแวว รักดี อันเป็นความผิดสองกรรม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังได้ว่าขณะจำเลยยิงผู้ตายทั้งสองนั้น ผู้ตายทั้งสองอยู่ด้วยกัน จำเลยยิงนายเล็กก่อนแล้วจึงยิงนางนวลจำเลยยอมรับว่า จำเลยยิงนายเล็ก 2 นัด และยิงนางนวล 1 นัดแสดงว่าในการยิงปืนแต่ละนัดความประสงค์และจุดมุ่งหมายในการยิงของจำเลยได้แยกออกจากกันว่ากระสุนนัดใดจำเลยยิงผู้ตายคนใดเจตนาฆ่าผู้ตายทั้งสองในขณะจำเลยลงมือกระทำความผิดจึงแยกออกจากกันได้ ความต้องการให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายแม้จะเกิดขึ้นในใจของจำเลยพร้อม ๆ กัน และต่อเนื่องกับการลงมือกระทำความผิดก็มิใช่เจตนาในขณะที่จำเลยลงมือกระทำความผิด การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share