คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บิดาผู้ร้องยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องระหว่างที่ผู้ร้องกับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาแต่ก่อนมีการจดทะเบียนสมรสย่อมถือได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามมาตรา 1471(1) แห่ง ป.พ.พ.ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกับผู้ร้อง ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนเจตนาหรือลักษณะแห่งการครอบครองเป็นการยึดถือเพื่อตนอันจักทำให้จำเลยเกิดสิทธิครอบครองในทรัพย์พิพาท สินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสเท่านั้น กฎหมายหาได้บัญญัติให้ทรัพย์สินที่คู่สมรสร่วมกันเป็นเจ้าของอยู่ก่อนสมรสกลายเป็นสินสมรสเมื่อได้มีการสมรสไม่.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยตามสัญญากู้ยืมศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงิน 34,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 5388 ตำบลบ้านแก่ง (ปัจจุบันตำบลสารจิตร)อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเรือนไม้ชั้นเดียว เลขที่ 23/1อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินอีกแปลงหนึ่งเพื่อบังคับคดีต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินและบ้านที่โจทก์นำยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลย แต่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โดยบิดาผู้ร้องยกให้ผู้ร้องก่อนสมรสกับจำเลย หนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และผู้ร้องมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอม ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทและบ้านหลังพิพาทเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลย โดยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เพื่อให้ผู้ร้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งผู้ร้องก็รู้เห็นและให้ความยินยอมโดยเป็นผู้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 5388ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขัดทรัพย์ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้ปล่อยบ้านและที่พิพาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และผู้ร้องแล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5388 และบ้านพิพาทปลูกในที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 5394 โดยผู้ร้องรื้อบ้านเลขที่ 52 หลังเดิมมาปลูกสร้างใหม่บนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 5394 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้งสองแปลงมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองและออกเมื่อปี พ.ศ. 2520 ผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2521 ผู้ร้องได้ที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยนายผัน ปราศรัย บิดาผู้ร้องยกให้ก่อนที่ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือไม่ ในข้อนี้เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่า นายผัน ปราศรัย บิดาผู้ร้องยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องก่อนที่ผู้ร้องกับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันย่อมถือได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามมาตรา 1471(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายผันยกที่ดินและบ้านพิพาทให้ผู้ร้องในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเป็นการยกให้ซึ่งการครอบครอง มิได้ทำเป็นหนังสือและผู้ร้องกับจำเลยก็ได้ทำกินและอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมา จึงถือได้ว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทอย่างเจ้าของร่วมกันที่ดินและบ้านพิพาทจึงตกเป็นของผู้ร้องกับจำเลยร่วมกัน เมื่อผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยมิได้จดทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สิน ระบุว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของใครก็ต้องถือว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 นั้นเห็นว่า การที่นายผันยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องในระหว่างที่ผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย แม้ว่าจะเป็นเพียงการยกสิทธิครอบครองให้ โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และผู้ร้องกับจำเลยได้ทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้อง เพราะการที่จำเลยทำกินและอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกับผู้ร้องเนื่องจากอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเช่นนี้ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนเจตนาหรือลักษณะแห่งการครอบครองเป็นการยึดถือเพื่อตน อันจักทำให้จำเลยเกิดสิทธิครอบครองในทรัพย์สินที่พิพาท ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ฎีกาอ้างข้อกฎหมายว่า เมื่อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วมกันอยู่ก่อนสมรส หลังจากที่จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 นั้น ก็เห็นว่า กรณีที่จะเป็นสินสมรสตามบทบัญญัติของมาตรา 1474 นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสเท่านั้น กฎหมายหาได้บัญญัติให้ทรัพย์สินที่คู่สมรสร่วมกันเป็นเจ้าของอยู่ก่อนสมรส กลายเป็นสินสมรสเมื่อได้มีการสมรสกันดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายว่าหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมนั้น เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจยึดสินส่วนตัวของผู้ร้องบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ปล่อยบ้านและที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน.

Share