คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5251/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย อ้างว่าเสียไว้เกินเจ้าพนักงานประเมินต้องตรวจสอบว่าโจทก์ชำระภาษีเกินหรือไม่ผลจากการตรวจสอบจึงพบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงถือได้ว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนได้ตามความในมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์อ้างว่าได้รับยกให้ที่ดินที่ติดจำนอง 1,000,000 บาท โจทก์ไถ่ถอนจำนองและต้องชำระดอกเบี้ยจำนวนหลายแสนบาท จะต้องถือเป็นรายจ่ายนำไปหักจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า โจทก์เสียดอกเบี้ยจริงหรือไม่และจำนวนเท่าไรเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบที่จะฟังว่าไม่มีดอกเบี้ยที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายของโจทก์ โจทก์และบริษัท ส. ต่างเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน เงินที่โจทก์นำไปชำระแก่ธนาคารแทนบริษัท ส. มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์ จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ของโจทก์มิได้ตาม มาตรา 65 ตรี(13) ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินประเมินรายได้ของ โจทก์ในการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์โดยวิธีสุ่มตัวอย่างไม่ชอบ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ประเด็นนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์ แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้น โต้แย้งการประเมินต่อศาลได้อีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยบางส่วน โดยให้โจทก์หักค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่ดินอีกจำนวน233,788 บาท คำขอคืนให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไม่มีเหตุอันควรเชื่อแต่อย่างใดว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นเพื่อเสียภาษีอากรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวน นั้นเห็นว่าการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีซึ่งได้หัก ณ ที่จ่ายไปแล้วโดยอ้างว่าโจทก์เสียภาษีเกิน เจ้าพนักงานประเมินก็จะต้องตรวจสอบว่าโจทก์ชำระภาษีเกินหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่า การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ถือได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนให้ตามความในมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2516 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ระบุเงินจำนองไว้จำนวน 1,000,000 บาทและระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ด้วย โจทก์ได้รับการยกให้ที่ดินที่ติดจำนองเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2519 จำนวนดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ต้องชำระแก่ผู้รับจำนองจำนวนหลายแสนบาทจะต้องถือเป็นรายจ่ายที่นำไปหักจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ด้วย นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ได้เสียดอกเบี้ยไปจริงหรือไม่และจำนวนเท่าไร เจ้าพนักงานประเมินจึงฟังว่าไม่มีดอกเบี้ยที่จะหักเป็นรายจ่ายของโจทก์ชอบแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าบริษัทโจทก์เป็นบริษัทในเครือของบริษัทสหโสธรวิทย์ จำกัด มีกิจการเกี่ยวเนื่องกันกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกันการที่โจทก์ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จึงเป็นไปเพื่อกิจการของโจทก์ เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะนำไปหักเป็นรายจ่ายได้ นั้น เห็นว่าโจทก์และบริษัทสหโสธรวิทย์ จำกัด ต่างก็เป็นนิติบุคคลแยกจากกันต่างก็มีสิทธิและหน้าที่ไปคนละอย่าง โจทก์จะอ้างว่าเงินที่โจทก์นำไปชำระแก่ธนาคารกสิกรไทยแทนบริษัทสหโสธรวิทย์ จำกัด เป็นรายจ่ายในการคำนวณหากำไรสุทธิของโจทก์ย่อมไม่ได้ เพราะไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(13)แห่งประมวลรัษฎากร ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินรายได้จากการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ของโจทก์โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ลงบัญชีรายละเอียดไว้ในแบบพิมพ์ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 119 ถึง 150 ถูกต้องแล้ว และโจทก์อ้างว่าในเรื่องการประเมินภาษีจากรายได้ในการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ของโจทก์ โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้วรวมกับรายได้จากการจำหน่ายที่ดิน นั้น เห็นว่า ในคำอุทธรณ์ของโจทก์ ลงวันที่ 18กันยายน 2530 ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 19-20 กล่าวอ้างแต่เฉพาะรายได้จากการจำหน่ายที่ดินว่าไม่ได้หักรายจ่ายเสียให้ถูกต้องก่อนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบโดยไม่ได้ระบุถึงรายได้จากการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ว่าคำนวณโดยวิธีสุ่มตัวอย่างไม่ถูกต้องอย่างไรหรือไม่ ถือได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์คัดค้านในเรื่องนี้มาตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นโต้แย้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรายการนี้ต่อศาลได้อีก จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ว่าโจทก์มีรายจ่ายในการจ้างปรับปรุงที่ดินที่โจทก์จัดสรรขายนอกจากโจทก์จะมีแต่สัญญาจ้างปรับปรุงที่ดินและใบเสร็จรับเงินค่าจ้าง ซึ่งใบเสร็จรับเงินค่าจ้างไม่ได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ตามความในมาตรา 118แห่งประมวลรัษฎากร จึงนำเงินค่าปรับปรุงที่ดินไปหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความนายสำรองเนตรอาภา นางสาวเข็มเพชร แซ่ลิ้ม และนายสมชาย โสธรวิทย์ พยานโจทก์ว่าที่ดินที่โจทก์จัดสรรขาย แต่เดิมเป็นหลุมเป็นบ่อ โจทก์ปรับปรุงถมดินให้สูงขึ้น มีการทำถนนคอนกรีตทำท่อระบายน้ำ และได้ความจากคำเบิกความของนายสมชายอีกว่าที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ11 ไร่ แบ่งแยกออกเป็น 118 แปลง และเดิมที่ดินบางส่วนเป็นที่ลุ่มเป็นบ่อเลี้ยงปลาจำต้องปรับปรุงถมดินให้สูงขึ้นมาประมาณ2-3 เมตร การจ้างถมดินปรับปรุงที่ดินดังกล่าวใช้เงินไปทั้งสิ้นจำนวน2,500,000 บาท โดยโจทก์ได้ว่าจ้างนายคาน ปาทานกับนายนิพนธ์ยาวะโนภาส ให้เป็นผู้ถมดินและปรับปรุงที่ดินจำเลยไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น แม้ใบเสร็จรับเงินจะรับฟังเป็นหลักฐานในคดีไม่ได้ แต่พยานบุคคลของโจทก์มีน้ำหนักพอที่จะฟังได้ว่าโจทก์ได้เสียเงินค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับปรุงที่ดินไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงถือเป็นรายจ่ายนำไปหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share