คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4342/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คู่ความท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การคิดอายุความฟ้องเรื่องค่าจ้างต้องคิดอายุความตามความเห็นของโจทก์ หรือของจำเลยที่ 1 ถ้าต้องคิดตามความเห็นของโจทก์จำเลยยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ ถ้าต้องคิดตามความเห็นของจำเลยที่ 1 ให้พิพากษายกฟ้องศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การคิดอายุความจะต้องคิดตามความเห็นของจำเลยที่ 1 จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความเนื่องจากการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์อายุความในการฟ้องร้องได้สะดุดหยุดอยู่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 75
โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกี่ยวกับโรงงานผลิตเหล็กเส้นมีเตาหลอมเหล็กเส้น เหล็กรีดและในการดำเนินการผลิตเหล็กดังกล่าวมีการดำเนินการผลิตเกี่ยวกับสารเคมีหลายชนิดอีกด้วย จำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้มีอำนาจสูงสุดของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 มากที่สุด โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองกำหนดให้โจทก์ทุกคนทำงานสัปดาห์ละ48 ชั่วโมง หรือวันละ 8 ชั่วโมง โดยกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ในวันอาทิตย์ จึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การทำงานในอุตสาหกรรมหนักและงานเกี่ยวกับความร้อนและสารเคมี ซึ่งจะต้องให้ทำงานเพียงสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาวันละ 1 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าทำงานกับจำเลยโดยโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าขอคิดค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลังเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2531ย้อนไปถึงวันที่ 20 เมษายน 2529 เมื่อหักวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดประจำสัปดาห์ออกแล้วโจทก์แต่ละคนทำงานล่วงเวลาทั้งสิ้นคนละ 429 ชั่วโมง เมื่ออัตราค่าทำงานล่วงเวลาเท่ากับ 1.5 เท่าของค่าแรงปกติ โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 75 จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลยตามฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 75
โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 754/2532 หมายเลขแดงที่ 4168/2532 ระหว่าง นายหนู แตงอยู่สุข กับพวก โจทก์ บริษัทจี.เอส.สตีล จำกัด จำเลย และคดีหมายเลขดำที่ 1016-1037/2533หมายเลขแดงที่ 1155-1176/2533 ระหว่าง นายชุบ ใจดี กับพวก โจทก์บริษัท จี.เอส.สตีล จำกัด จำเลย ของศาลแรงงานกลางฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าขาดอายุความเพราะเป็นฟ้องเรียกค่าจ้างที่ค้างชำระซึ่งจะต้องฟ้องภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้อง เนื่องจากในเดือนหนึ่ง ๆ จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์แต่ละคนในวันที่ 15 และในวันสิ้นเดือน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าร่วมกันนัดหยุดงานนับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2531จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าจึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างในระหว่างการนัดหยุดงาน อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1ได้จ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานระหว่าง วันที่ 1 ถึง 18 เมษายน 2531อันเป็นช่วงการทำการสุดท้ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าไปเรียบร้อยแล้วโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้ายื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533คดีโจทก์ทุกคนจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
ข้อ 1. ฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 75 เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่
ข้อ 2. ฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 75 เป็นฟ้องที่ขาดอายุความแล้วหรือไม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 4168/2532 และ 1155-1176/2533ของศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนและจำเลยที่ 1 ได้ท้ากันขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การนับอายุความฟ้องเรื่องค่าจ้าง2 ปีในคดีนี้จะต้องนับกันอย่างไร โจทก์เห็นว่าจะต้องนับตั้งแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 ย้อนขึ้นไปอีก 2 ปี จำเลยเห็นว่าจะต้องนับตั้งแต่วันฟ้องคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 ย้อนขึ้นไปเป็นเวลา 2 ปี จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2531 โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนและจำเลยที่ 1 ท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าต้องคิดอายุความตามความเห็นของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ถ้าต้องคิดตามความเห็นของโจทก์ จำเลยยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์แต่ละคนตามคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 8 เมษายน 2534 ถ้าต้องคิดตามความเห็นของจำเลยที่ 1 ให้พิพากษายกฟ้องรายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8 เมษายน 2534 ของศาลแรงงานกลางศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การคิดอายุความจะต้องคิดตามความเห็นของจำเลยที่ 1 จึงพิพากษายกฟ้องตามคำท้า ศาลแรงงานกลางหาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวนจึงไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบห้าสำนวน.

Share