คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สินค้าแอลลอยสตีล หรือโลหะผสมเหล็กกล้าที่โจทก์นำเข้า เป็นของ ที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในประเภทพิกัดที่ 73.15 ง. จำเลยจะจัดของ ที่โจทก์นำเข้าเป็นประเภทพิกัดที่ 73.40 ฉ. อื่น ๆ อันเป็นประเภท ที่ระบุไว้อย่างกว้างหาได้ไม่เพราะขัดต่อหลักการตีความพิกัด อัตราศุลกากรตามที่บัญญัติไว้ในภาค 1 ข้อ 3.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกเลิกการประเมินค่าภาษีอากรที่จำเลยประเมินให้โจทก์เสียเพิ่ม จำนวน 61,371.72 บาท และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาเฉลิมนครมูลค่า 248,100 บาท แก่โจทก์กับขอให้พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระภาษีอากรเงินเพิ่มอากรขาเข้า ภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลตามฟ้องแย้งแก่จำเลย
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยเฉพาะที่เกี่ยวกับอากรขาเข้า และให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามแบบแจ้งการประเมินของจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติว่าของที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าที่เป็นกรณีพิพาทกันนั้นคือเหล้กท่อนหน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมเป็นเหล็กแอลลอยสตีลหรือโลหะผสมเหล็กกล้าตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย ล.8 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์มาว่า ของที่โจทก์นำเข้านั้นอยู่ในพิกัดประเภทที่73.40 ฉ. หรือไม่ โจทก์นำสืบว่าของที่โจทก์นำเข้ามิใช่เหล็กสำเร็จรูป แต่เป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำแม่พิมพ์โดยนำมาแกะให้เป็นรูปร่างของชิ้นส่วนที่ต้องการ แล้วนำเหล็กที่จะผลิตชิ้นส่วนเผาให้แดง วางลงในแบบพิมพ์ดังกล่าว 2 ชิ้นประกบกัน และใช้เครื่องอัดกดให้เป็นรูปชิ้นส่วนตามที่ต้องการ จึงเป็นของที่อยู่ในพิกัดประเภทที่ 73.15 ง. และโจทก์ได้เสียอากรขาเข้าตามอัตราที่กำหนดไว้ในพิกัดประเภทดังกล่าวแล้ว
จำเลยนำสืบว่า ของที่โจทก์นำเข้าได้ผ่านกรรมวิธีมาบ้างแล้วและไม่อาจจัดเข้าในพิกัดใดได้ จึงจัดเข้าพิกัดประเภทที่ 73.40 ฉ.
พิเคราะห์แล้ว ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์นำของที่พิพาทเข้านั้น กำหนดความไว้ดังนี้
ประเภทที่ 73.10 รายการ “เหล็กหรือเหล็กกล้าที่ทำเป็นท่อนเส้น (รวมทั้งเหล็กเส้นสำหรับทำลวด) ด้วยวิธีรีด ตี ดึงยืด โดยใช้ความร้อน (รวมทั้งที่ทำอย่างประณีต) และท่อนเหล็กกล้ากลวงสำหรับทำดอกสว่านเจาะเหมืองแร่”
ประเภทที่ 73.15 รายการ “โลหะผสมเหล็กกล้าและเหล็กกล้าที่มีธาตุคาร์บอนสูง ซึ่งทำในลักษณะดังเช่นที่ระบุไว้ในประเภทที่ 73.14

………………..
ง. ที่มีลักษณะตามที่ระบุไว้ในประเภทที่ 73.10…”
ประเภทที่ 73.40 รายการ “ของอื่น ๆ ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า
ก. การรถไฟหรือรถรางนำเข้าหรือสั่งให้นำเข้ามาซึ่งมีรูปและคุณภาพพิเศษเพื่อใช้เฉพาะในการสร้างทางหรือสำหรับรถจักรและล้อเลื่อน
ข. ถังชนิดเรเซอวัวร์ แท้งค์ และแว้ทหรือภาชนะที่คล้ายกันซึ่งมีความจุไม่เกินสามร้อยลิตร…
ค. กับดักหนู
ง. ตะกร้า ตะแกรง หรือสิ่งที่คล้ายกัน ทำด้วยลวดเหล็กหรือเหล็กกล้าหุ้มวัตถุจำพวกปลาสติก
จ. ของประดับกาย และของใช้ซึ่งตามปกติเป็นของติดตัวซึ่งมิได้ระบุไว้ในประเภทอื่น
ฉ. อื่น ๆ
ตามที่กำหนดตามรายการในประเภทที่ที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ารายการที่กำหนดไว้ในพิกัดประเภทที่ 73.40 นั้น ของที่นำเข้ามีลักษณะบ่งบอกให้เห็นว่าเป็นของที่นำมาใช้ในลักษณะที่เป็นวัตถุสำเร็จรูป ของที่โจทก์นำเข้าตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.4 นั้นตามสภาพของของดังกล่าวเห็นได้ว่าจะต้องทำเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อให้เกิดเป็นของใช้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา มิใช่ของใช้สำเร็จรูปในขณะที่นำเข้า ตามคำเบิกความของนายชัยบุญ จิตตนิยมพาณิชย์พยานโจทก์เบิกความว่าเหล็กที่นำเข้ามาไม่ใช่เหล็กสำเร็จรูปแต่เป็นวัตถุดิบซึ่งนำมาใช้ทำแม่พิมพ์ในการผลิตชิ้นส่วน โดยนำเหล็กแอลลอยดังกล่าวมาแกะให้เป็นรูปร่างของชิ้นส่วนที่ต้องการแล้วนำเหล็กที่จะผลิตชิ้นส่วนเผาให้แดงวางลงในแบบพิมพ์แล้วใช้เครื่องอัดกดให้เป็นรูปชิ้นส่วนตามที่ต้องการ นายกิจจา พัวพันธุมาพยานจำเลยเบิกความว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามิใช่วัตถุสำเร็จรูปจะต้องนำไปขุดหรือเจาะเป็นแบบร่องใช้ได้ต่อไป นายประโยชน์เจริญพักตร์ พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานผู้ตรวจปล่อยสินค้าก็เบิกความว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นเหล็กที่นำเข้ามาเพื่อใช้ทำเป็นแม่แบบซึ่งได้ข้อเท็จจริงตรงกันว่าสินค้าของโจทก์นั้นมิใช่เหล็กสำเร็จรูปแต่เป็นเหล็กที่นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นแม่แบบ ดังนั้น เมื่อพิจารณาตัวสินค้าที่โจทก์นำเข้าแล้วจะเห็นว่าตรงกับคำว่า เหล็กหรือเหล็กกล้า ตามที่กำหนดไว้ในรายการพิกัดประเภทที่ 73.10 และข้อเท็จจริงได้ความว่า ของที่โจทก์นำเข้ามาเป็นแอลลอยสตีลหรือโลหะผสมเหล็กกล้า จึงเป็นของที่อยู่ในรายการที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในประเภทพิกัดที่ 73.15 ง. ตามที่กล่าวข้างต้น ในเมื่อของที่โจทก์นำเข้านั้น เข้าในพิกัดประเภทที่ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วเช่นนี้การที่จำเลยจะจัดของดังกล่าวเข้าประเภทที่ 70.40 ฉ. อันเป็นประเภทที่ระบุไว้อย่างกว้าง จึงเป็นการตีความพิกัดที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 1ข้อ 3 ที่บัญญัติว่า “ถ้าเห็นว่าของชนิดใดอาจจัดเข้าได้สองประเภทหรือมากกว่านั้นจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ให้ถือหลักการแยกประเภทดังนี้
ก. ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยชัดแจ้ง และอีกประเภทหนึ่งระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยชัดแจ้ง…” ซึ่งตามพิกัดประเภทที่ 70.40 ฉ. ระบุว่า “อื่น ๆ”อันเป็นการระบุไว้อย่างกว้าง ๆ และที่จำเลยอ้างถึงการจัดเข้าพิกัดตามคำอธิบายของสภาความร่วมมือของศุลกากรนั้น เห็นว่า เมื่อของที่นำเข้าสามารถจัดเข้าพิกัดได้ตามหลักเกณฑ์ของการตีความพิกัดตามที่กำหนดไว้ภาค 1 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรแล้ว ก็ไม่มีกรณีที่จะต้องอาศัยคำอธิบายดังกล่าว ทั้งยังไม่มีบทกฎหมายให้นำคำอธิบายดังกล่าวถือเป็นหลักเกณฑ์ในการตีความพิกัดได้…”
พิพากษายืน.

Share