คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3571/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่พนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 นำเช็คของโจทก์ไปเข้าฝากในบัญชีเงินฝากที่มีชื่อจำเลยที่ 2 ม. และ ก. เป็นเจ้าของบัญชีนั้น แม้จะไม่มีชื่อจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่ก็เป็นการกระทำโดยจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ และกรรมการคนอื่น จึงถือว่าจำเลยที่ 2ได้เปิดบัญชีเงินฝาก แทนจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการภายในของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องประทับตราของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ไปแล้ว จึงมีหน้าที่คืนเงินให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จะยกเอาเหตุที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้แก่โจทก์โดยไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 มาเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้ การที่โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน แล้วรับเช็คมาเป็นการชำระหนี้คืนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสมุดคู่ฝากและจำเลยที่ 1 รับเช็คจากโจทก์แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีของธนาคารพาณิชย์เอง โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝาก จึงไม่ใช่เป็นการฝากเงินในกิจการของธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาหรือเพื่อเคหะตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 ที่จะต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินตามฟ้องจากโจทก์ โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นการเฉพาะตัว โดยนำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยตรง จำเลยที่ 1มิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย เช็คที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกเพื่อคืนเงินให้โจทก์เป็นเช็คของจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิใช่เช็คของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินแล้วชำระหนี้ด้วยการออกเช็ค ไม่เคยมอบหมายหรือมอบอำนาจหรือเชิดให้จำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นตัวแทนรับฝากเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์รับฝากเงิน จึงไม่สามารถรับฝากเงินจากโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ได้เพราะเป็นการผิดกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 4,054,051.95 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3ชำระเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบมาและไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.2 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์จากกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย ล.1 ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและมีจำเลยที่ 3 กับนายมงคล เนียมก้องกิจ นายวีระวัฒน์ คุณากร เป็นกรรมกรจำเลยที่ 2 ลงชื่อร่วมกับนายมงคล เนียมก้องกิจ หรือนายวีระวัฒน์คุณากร และประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการผูกพันจำเลยที่ 1ตามคำขอจดทะเบียนกรรมการเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 10ตุลาคม 2526 โจทก์ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสาธุประดิษฐ์จำนวนเงิน 4,054,051.95 บาท สั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีเลขที่ 16859ธนาคารมหานคร จำกัด สำนักงานใหญ่ ตามเอกสารหมาย จ.4 มอบให้นายพิศิษฐ์ อัศวเนตรมณี พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปตามใบสั่งจ่ายเอกสารหมาย จ.5 นายพิศิษฐ์ได้มอบเช็คธนาคารมหานคร จำกัดสั่งจ่ายเงินจำนวน 4,054,051.95 บาท ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อผู้สั่งจ่ายแต่ไม่ได้ประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.3 เช็คตามเอกสารหมาย จ.4ที่โจทก์สั่งจ่ายนั้นได้มีการนำไปขึ้นเงินจากธนาคารตามเช็คไปเรียบร้อยแล้วตามสำเนาบัญชีเอกสารหมาย จ.11 แต่เมื่อเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้สั่งจ่ายครบกำหนดแล้วโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารมหานคร จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามสำเนาใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.8เห็นว่าขณะที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.4 เข้าบัญชีธนาคารมหานคร สำนักงานใหญ่ เลขที่ 16859 นั้น จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่น และประทับตราของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจบริหารงานของจำเลยที่ 1 ดังนั้นกิจการงานทั่วไปของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ย่อมมีอำนาจกระทำการแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นและประทับตราของจำเลยที่ 1 เช่น การรับเงินหรือจ่ายเงินให้แก่ลูกค้าในทางการค้าของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2เป็นตัวแทนในการดำเนินการอยู่แล้วเกี่ยวกับการรับเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 จากโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ได้สั่งให้นางสุภาพ อังศุกสิกร เลขานุการของโจทก์ติดต่อไปยังสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 พนักงานของจำเลยที่ 1รับโทรศัพท์แล้วโอนไปให้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 นางสุภาพแจ้งความประสงค์ของโจทก์ที่จะนำเงินจำนวน 4 ล้านบาทเศษ มาฝากไว้กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 สั่งให้นายพิศิษฐ์ อัศวเนตรมณี พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเช็คจากนางสุภาพ พนักงานของจำเลยที่ 1 เช่นกันที่สั่งให้นางสภาพสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่ธนาคารมหานครจำกัด สำนักงานใหญ่ บัญชีเลขที่ 16859 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้ติดต่อฝากเงินกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้รับฝากเงินไว้ตามทางการค้าปกติของจำเลยที่ 1 เจ้าของบัญชีเลขที่16859 ก็ได้รับเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 ไปครบถ้วนแล้ว เจ้าของบัญชีเลขที่ 16859 ได้แก่จำเลยที่ 2 กับนายมงคล เนียมก้องกิจและนางสาวกาญจนา อัศวเนตรมณี ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและนายมงคลเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้บัญชีดังกล่าวไม่ได้เปิดในนามของจำเลยที่ 1 แต่ได้กระทำโดยกรรมการผู้จัดการและกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 มิใช่ว่าจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของบัญชีแต่เพียงผู้เดียว ไม่น่าเชื่อว่าบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 2 แต่น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 การเปิดบัญชีแทนจำเลยที่ 1 เป็นกิจการภายในของจำเลยที่ 1ไม่จำเป็นต้องประทับตราของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้รับเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 จำนวน 4,054,051.95 บาทไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 และนายมงคลเป็นผู้รับแทน ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เช็คเอกสารหมาย จ.3 จะมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม โจทก์กล่าวฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับฝากเงินจากโจทก์และจำเลยที่ 2ที่ 3 ได้สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3 ชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์จึงไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คและไม่ได้รับชำระหนี้คืนจากจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ ย่อมมีผลเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่รับฝากจากโจทก์คืนให้โจทก์และฟ้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คให้ชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์ด้วย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับฝากเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 ไปจากโจทก์จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องชำระเงินคืนให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินฐานลาภมิควรได้ จำเลยที่ 1ไม่อาจจะยกเอาเหตุที่เช็คตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นผู้สั่งจ่ายและไม่มีตราประทับของจำเลยที่ 1 ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดได้
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากเงินคงมีสิทธิจัดหามาซึ่งเงินทุน โดยวิธีกู้ยืมหรือรับเงินจากประชาชนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 อยู่นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจให้สัตยาบันและไม่ผูกพันจำเลยที่ 1นั้น เห็นว่าตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า โจทก์เคยเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 มาก่อน ก่อนนี้จำเลยที่ 1 เคยรับเงินจากโจทก์และชำระหนี้ให้โจทก์โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.9 ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นกิจการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 นี้ ไม่แตกต่างไปจากการที่จำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 แล้วชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยเช็คเอกสารหมาย จ.3 ตามที่พิพาทกันในคดีนี้เพียงแต่ตราสารที่ชำระหนี้ไม่เหมือนกันเท่านั้น การที่โจทก์จ่ายเงินมาให้จำเลยที่ 1 มีกำหนดสามเดือนแล้วรับเช็คมาเป็นการรับชำระหนี้คืนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสมุดคู่ฝากนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1รับเช็คจากโจทก์แล้วนำไปฝากเข้าบัญชีของธนาคารพาณิชย์เองโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝากแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เป็นการฝากเงินในกิจการของธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงเช่นนี้ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นการฝากเงินหรือไม่ก็ตาม ย่อมเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาหรือเพื่อการเคหะตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยตรง หาใช่เป็นการนอกวัตถุประสงค์ไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 ที่จะต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนโจทก์…”
พิพากษายืน.

Share