แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ร้องซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ผู้ร้องให้ดำเนินคดีแทนผู้ร้องได้ มีฐานะเป็นผู้แทนสหกรณ์ผู้ร้อง มีอำนาจทำการแทนผู้ร้องได้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ผู้ร้องหาจำเป็นต้องทำใบมอบอำนาจอีกขั้นหนึ่งไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2451-2452/2517) การที่จำเลยนำหุ้นสหกรณ์ไปจำนำแก่ผู้ร้องภายหลังจากจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และศาลพิพากษาตามยอมแล้วเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า จำเลยและผู้ร้องได้ร่วมกันจำนำหุ้นทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยเสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะขอรับชำระหนี้ในเงินค่าหุ้นดังกล่าวก่อนโจทก์.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินยืมตามหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีอยู่ในสหกรณ์ผู้ร้อง และสหกรณ์ผู้ร้องได้ส่งเงินค่าหุ้นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว สหกรณ์ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ ชินวงศากุลดำเนินคดีแทน จำเลยได้กู้ยืมเงินผู้ร้องโดยจำนำใบหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ผู้ร้องเป็นประกันหนี้ ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนำจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินค่าหุ้นก่อนโจทก์ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินค่าหุ้นที่ถูกอายัดไว้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่น
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า นายสมศักดิ์ ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องแทนผู้ร้อง เพราะไม่มีหลักฐานว่าผู้ร้องมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินและไม่ได้จำนำใบหุ้นไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีบุริมสิทธิเหนือเงินที่ถูกอายัด จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ มีอำนาจยื่นคำร้องแทนสหกรณ์ผู้ร้องได้ แต่ผู้ร้องและจำเลยได้ร่วมกันจำนำหุ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียเปรียบ จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องต่อศาลต้องทำเป็นหนังสือ ดังนี้ การตั้งตัวแทนเพื่อให้ยื่นคำร้องแทนก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย แต่นายสมศักดิ์ ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องแทน ทั้งจะอนุโลมตารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ผู้ร้องตามเอกสารท้ายคำร้องเป็นหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ร้องได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ผู้ร้องให้ดำเนินคดีแทนผู้ร้องได้ ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการท้ายคำร้อง ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งว่าไม่มีการมอบหมายตามรายงานนั้น นายสมศักดิ์ จึงมีฐานะเป็นผู้แทนสหกรณ์ผู้ร้องมีอำนาจทำการแทนผู้ร้องได้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 24ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2524 มาตรา 5 ดังนั้น นายสมศักดิ์ จึงมอบอำนาจดำเนินคดีของสหกรณ์ผู้ร้องในฐานะผู้แทนของสหกรณ์ผู้ร้องได้ คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ผู้ร้องหาจำเป็นต้องทำใบมอบอำนาจอีกชั้นหนึ่งไม่ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2451-2452/2517 ระหว่างสหกรณ์การเกาตรหนองไผ่ จำกัด กับพวก โจทก์ นายหว่าน นาคะบุตรกับพวก จำเลย ส่วนปัญหาตาฎีกาของผู้ร้องที่ว่า จำเลยได้จำนำหุ้นของตนเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ผู้ร้องทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1ยังมิได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัย ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปยัง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ความว่า เดิมจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2531 ต่อมาศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและอายัดหุ้นของจำเลยที่มีอยู่ในสหกรณ์ผู้ร้องเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 และได้ความจากคำเบิกความของนายสมศักดิ์พยานผู้ร้องว่า หลังจากที่ศาลมีคำสั่งอายัดหุ้นในคดีอื่น ผู้ร้องจึงมีมติในที่ประชุมว่า สมาชิกที่กู้เงินของผู้ร้องระยะต่อไปจะต้องนำหุ้นมาจำนำทุกคน เห็นว่าจำเลยซึ่งได้กู้เงินของผู้ร้องไปก่อนแล้ว ได้นำหุ้นที่จำเลยมีอยู่ในสหกรณ์ผู้ร้องมาจำนำแก่ ผู้ร้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่า การจำนำหุ้นดังกล่าวจำเลยและผู้ร้องได้ร่วมกันกระทำขึ้นทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยเสียเปรียบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะขอรับชำระหนี้ในเงินค่าหุ้นดังกล่าวก่อนโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น โดยยกคำร้องของผู้ร้องนั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน.