คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยว่าจ้างให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์จากตลาดไปส่งยังหมู่บ้าน มีนางสาวด. นั่งกลาง จำเลยนั่งซ้อนท้ายสุด รถแล่นมาได้ประมาณ 10 กิโลเมตร จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเลี้ยวกลับไปส่งที่เดิมขณะกำลังเลี้ยวรถกลับ จำเลยกระโดดลงจากรถบอกให้หยุดรถ และมีเสียงชายที่ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังมาและเป็นพวกจำเลยบอกให้ยิงผู้เสียหายเหลียวไปดูเห็นจำเลยจ้องปืนมาทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงรีบขับรถจักรยานยนต์มุ่งหน้าตรงไป ทำให้นางสาวด. ที่นั่งอยู่ด้วยตกลงจากรถ ขณะนั้นผู้เสียหายได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดทางด้านหลัง แต่ไม่ถูกผู้เสียหาย ผู้เสียหายหันไปดูเห็นจำเลยและนางสาวด. ขึ้นรถจักรยานยนต์ซึ่งชายผู้นั้นขับไปทางเดิม ดังนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางสาวด. ร่วมกระทำการด้วยอย่างไรจำเลยยิงปืนไปทางใด และห่างจากผู้เสียหายเท่าใด จำเลยยิงปืนเพียง1 นัด เมื่อไม่ถูกแล้วก็ไม่ได้ติดตามยิงผู้เสียหายอีก ยังไม่พอฟังว่าจำเลยยิงปืนโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าตามฟ้อง แต่การที่จำเลยซึ่งโดยสารรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายมายังไม่ถึงจุดหมายบอกให้ผู้เสียหายเลี้ยวรถกลับไปส่งที่เดิม เมื่อผู้เสียหายเลี้ยวรถจำเลยกลับกระโดดลงจากรถแล้วบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ และเมื่อพวกจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ตามมาบอกให้ยิง จำเลยก็จ้องปืนมาทางผู้เสียหายครั้นผู้เสียหายไม่หยุดรถและขับรถหลบหนีไป จำเลยก็ยิงปืนขึ้นกรณีไม่ปรากฏเหตุผลอย่างไรที่จำเลยจะต้องให้ผู้เสียหายหยุดรถจนถึงขนาดต้องใช้อาวุธปืนในการบังคับขู่เข็ญเช่นนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายกระทำการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพโดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองแต่เมื่อผู้เสียหายไม่หยุดรถตามที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดเพียงขั้นพยายาม ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสุดท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 2 คน ซึ่งมีอาวุธปืนติดตัวร่วมกันปล้นรถจักรยานยนต์ราคา 9,000 บาท ของนายสมพร บุญทองผู้เสียหาย โดยจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัดแต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายและผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไปได้ หลังจากจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำผิดแล้วได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมเจ้าพนักงานยึดได้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยกับพวกใช้เป็นยานพาหนะในการหลบหนีเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83,289, 340, 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514ข้อ 14, 15 คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี,80 จำคุก 12 ปี ของกลางคืนเจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 289(7) ประกอบด้วยมาตรา 80 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 289(7) ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง ได้มีคนร้าย 3 คน ใช้ปืนเป็นอาวุธร่วมกันยิงไปทางผู้เสียหาย โดยจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ด้วย ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์พาจำเลยและนางสาวแดงไปส่งยังจุดหมายเมื่อไปได้ประมาณ 10 กิโลเมตร จำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายสุดบอกให้ผู้เสียหายเลี้ยวกลับไปส่งที่เดิม ขณะเลี้ยวรถกลับ เห็นชายคนหนึ่งขับขี่จักรยานยนต์ตามหลังมา ห่างประมาณ 3 วา ขณะที่ผู้เสียหายกำลังจะเลี้ยวรถนั้น จำเลยกระโดดลงจากรถบอกให้หยุดรถ และได้ยินเสียงชายที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังมาบอกให้ยิง ผู้เสียหายเหลียวไปดูเห็นจำเลยจ้องปืนมาทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงรีบขับขี่รถจักรยานยนต์มุ่งหน้าตรงไป ทำให้นางสาวแดงที่นั่งอยู่ด้วยตกลงจากรถ และขณะที่ผู้เสียหายขับรถหลบหนีตรงไปนั้น ผู้เสียหายได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ทางด้านหลัง แต่ไม่ถูก หันไปดูเห็นจำเลยและนางสาวแดงขึ้นรถจักรยานยนต์ซึ่งชายอีกคนหนึ่งขับขี่ตามมานั้นกลับไปทางเดิม ดังนี้ การที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเลี้ยวรถกลับทางเดิมและบอกให้หยุดรถนั้น ยังไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์อย่างใดของผู้เสียหาย ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า นางสาวแดงร่วมกระทำการด้วยอย่างไร ผู้เสียหายว่าเมื่อเห็นจำเลยจ้องปืนมาก็รีบขับขี่รถจักรยานยนต์ไปข้างหน้าจนนางสาวแดงที่นั่งซ้อนอยู่ตกลงจากรถ แสดงว่าผู้เสียหายขับรถไปอย่างเร็ว ขณะที่ขับรถหลบหนีไปผู้เสียหายได้ยินเสียงปืนทางด้านหลังเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยยิงปืนนั้นผู้เสียหายไม่เห็นว่าจำเลยยิงปืนไปทางใด ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า ขณะที่จำเลยยิงปืนนั้นนางสาวแดงอยู่ในวิถีกระสุนทางเดียวกับผู้เสียหายหรือไม่และขณะที่ยิงปืนนั้นจำเลยกับผู้เสียหายอยู่ห่างกันเพียงใด จำเลยยิงปืนเพียง 1 นัด เมื่อไม่ถูกแล้วก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ติดตามไปยิงผู้เสียหายอีก พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยยิงปืนโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าตามฟ้อง แต่การที่จำเลยซึ่งโดยสารรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายมายังไม่ถึงจุดหมายบอกให้ผู้เสียหายเลี้ยวรถกลับไปส่งที่เดิม เมื่อผู้เสียหายเลี้ยวรถจำเลยกลับกระโดดลงจากรถแล้วบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ และเมื่อพวกจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ตามมาบอกให้ยิง จำเลยก็จ้องปืนมาทางผู้เสียหายครั้นผู้เสียหายไม่หยุดรถและขับรถหลบหนีไปจำเลยก็ยิงปืนขึ้นดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฏเหตุผลอย่างไรที่จำเลยจะต้องให้ผู้เสียหายหยุดรถจนถึงขนาดต้องใช้อาวุธปืนในการบังคับขู่เข็ญเช่นนั้นการกระทำของจำเลยเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายกระทำการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพ โดยมีอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองแต่เมื่อผู้เสียหายไม่หยุดรถตามที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดเพียงขั้นพยายาม ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสุดท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 จำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share