คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2217/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่า การที่โจทก์กระทำผิดข้อบังคับของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยนั้น ก็เป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยจะถือเป็นเหตุให้โจทก์ออกจากงานได้ ไม่ใช่จะมีเฉพาะแต่เหตุตามข้อที่โจทก์กล่าวอ้างเท่านั้น ดังนี้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จึงเป็นการชอบแล้ว.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกนายทองคำ คามบุตร ว่าโจทก์ และเรียกองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าจำเลย
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นเจ้าพนักงานทำหน้าที่ยามรักษาการณ์ ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโดยกล่าวหาว่าโจทก์มีส่วนร่วมหรือเป็นตัวการในการลักษณะเผาเคเบิลของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถ รับกลับได้ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ลูกจ้างจำเลยจริง แต่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
สำนวนหลังจำเลยฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าทีเป็นยามรักษาการณ์ประจำชุมสายโทรศัพท์งามวงศ์วาน โจทก์ขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้มีบุคคลอื่นเข้ามาลักตัดสายและเผาสายเคเบิลโทรศัพท์ของ จำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์และได้บอกกล่าวให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยโจทก์ให้การว่า โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับระเบียบ และคำสั่งของจำเลยด้วยความระมัดระวัง มิได้บกพร่อง หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติงานตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษผิดวินัย พ.ศ. 2518 ข้อ 7 โดยโจทก์รู้เห็นการเผาสายเคเบิลโทรศัพท์อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์เป็นยามรักษาการณ์มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของจำเลย เมื่อรู้ว่ามีการเผาสายเคเบิลโทรศัพท์ของจำเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่โจทก์ไม่รายงานเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้าง และบกพร่องต่อหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย พิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาว่าจำเลยจะไล่โจทก์ออกจากงานได้กรณีจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษผิดวินัย พ.ศ. 2518 แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2519ข้อ 18(5) ที่ว่าโจทก์กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีความผิดตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษวินัย พ.ศ. 2518 ข้อ 7 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ข้อบังคับตามที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยนั้นเป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยถือเป็นเหตุให้โจทก์ออกจากงานได้ ไม่ใช่ว่าจำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานได้เฉพาะแต่ข้อที่โจทก์อ้างเท่านั้น ทั้งกรณีของโจทก์ก็ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)ซึ่งเป็นความผิดกรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share