คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ขอให้เพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาซึ่งมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงของศาลชั้นต้นที่ว่า คำพิพากษามิได้นำเอาดอกเบี้ยเงินกู้ค้างชำระมารวมคำนวณเป็นยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ เป็นการขอเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งหาได้จำกัดเฉพาะที่เกิดจากการขีดเขียนหรือถ้อยคำเท่านั้นไม่ เมื่อไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นต้นอำนาจในการขอเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยจึงอยู่แก่ศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษานั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 49,612.39 บาทและหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 2,195,939.91 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 48,928.73 บาท และ 1,795,178.08 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 48,928.73 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม2531 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ และร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 1,795,178.08 บาท ดอกเบี้ยจำนวน239,195.80 บาท รวมเป็นเงิน 2,034,373.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,795,178.08 บาท นับแต่วันที่29 มิถุนายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,844,106.81 บท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 48,928.73 บาท นับแต่วันที่ 31ธันวาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 683.66 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,795,178.08 บาท นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 161,566.03 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 8233 ตำบลคลองเตยอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากยังไม่พอชำระให้นำทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน คดีถึงที่สุด
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ แต่มิได้นำดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน239,195.80 บาท มารวมเป็นยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาเสียใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขเป็นว่า “พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน2,083,302.61 บาท…” นอกจากที่มีคำสั่งแก้ไขนี้คงเป็นไปตามข้อความเดิมทุกประการ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 1,795,178.08 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 239,198.80 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,795,178.08 บาทนับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จแต่เมื่อพิพากษามิได้นำเอาดอกเบี้ยจำนวน 239,175.80 บาท มารวมคำนวณเป็นยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำพิพากษาโดยนำเอาดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ด้วย ปัญหาที่จะวินิจฉัยประการแรกมีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษานั้นได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก บัญญัติว่า”ถ้าในคำพิพากษาหรือคำสั่งใด มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ และมิได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เมื่อศาลที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเห็นว่าสมควรหรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกก็ได้ แต่ถ้าได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นย่อมอยู่แก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี คำขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นให้ยื่นต่อศาลดังกล่าวแล้ว โดยกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาหรือโดยทำเป็นคำร้องส่วนหนึ่งต่างหาก” และวรรคสองบัญญัติว่า “การทำคำสั่งเพิ่มเติมตามมาตรานี้ จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม” คดีนี้ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉะนั้นอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงจึงอยู่แก่ศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษานั้น ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อที่โจทก์ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย และเมื่อแก้ไขเพิ่มเติมแล้วจะเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิมหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาเดิมแล้วว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระให้แก่โจทก์จำนวน 239,195.80 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,795,178.08บาท นับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหาใช่เป็นการขอให้ศาลชั้นต้นทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีอันจะมีผลทำให้เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยเดิมของศาลชั้นต้นแต่ประการใด แต่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความผิดพลาดหรือผิดหลงของศาลชั้นต้นเองเมื่อพิพากษามิได้นำเอาดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้างชำระดังที่วินิจฉัยไว้แล้วมารวมคำนวณเป็นยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ด้วย ซึ่งข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนี้เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ดังกล่าวแล้วข้างต้นและข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยนี้หาได้จำกัดเฉพาะที่เกิดจากการขีดเขียนหรือถ้อยคำเท่านั้นไม่แต่หมายความรวมถึงกรณีเช่นนี้ด้วย และโจทก์ไม่จำเป็นต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาไปตามลำดับขั้นตอนและภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกามีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้…”
พิพากษายืน.

Share