คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 สำคัญผิดว่าบุตรแรกเกิดของตนถึงแก่ความตายแล้วจึงโยนลงมาจากหน้าต่างโรงแรม แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมลงมือกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่การที่ จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมห้องเดียวกับจำเลยที่ 2 ตามลำพัง ในขณะที่จำเลยที่ 2 คลอดบุตร จำเลยที่ 2 ย่อมต้องมีความเจ็บปวด ซึ่งจะต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือตน ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นในการคลอดบุตรของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2 เดือนเศษก็หาใช่ว่าเด็กทารกจะไม่มีชีวิต รอดอยู่เสมอไปไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะบิดาย่อมมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ดูแล บุตรด้วยการใช้ความระมัดระวังตรวจดู ให้ถ้วนถี่เสียก่อนว่าบุตรที่เกิดมายังมีชีวิต รอดอยู่หรือไม่ มิใช่ปล่อยให้จำเลยที่ 2 โยนบุตรทิ้งไปโดยมิได้ห้ามปรามทั้ง ๆ ที่ จำเลยที่ 1สามารถใช้ความระมัดระวังในกรณีเช่นนี้ได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 จำคุกคนละ 1 เดือน ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและจำเลยที่ 2 ตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 เวลาประมาณ 3 นาฬิกาจำเลยที่ 2 ได้คลอดบุตรคือเด็กหญิงนพมาศที่ห้องพักของโรมแรมศรีลำโพงซึ่งจำเลยทั้งสองเช่าพักอยู่ และหลังจากนั้นด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ 2 ที่สำคัญผิดคิดว่าเด็กหญิงนพมาศบุตรของตนได้ถึงแก่ความตายแล้วจึงโยนเด็กหญิงนพมาศลงมาจากหน้าต่างห้องน้ำชั้นสองของโรงแรม ดังกล่าวเป็นเหตุให้เด็กหญิงนพมาศได้รับอันตรายแก่กาย มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมลงมือกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 1อยู่ร่วมห้องเดียวกับจำเลยที่ 2 ตามลำพังในขณะเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งสองโดยเฉพาะ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 คลอดบุตรเพราะเดินสะดุดของประตูห้องน้ำล้มลงโดยในขณะนั้นจำเลยที่ 1นอนหลับอยู่นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีรอยถลอกหรือฟกซ้ำตามร่างกายแต่อย่างใด ทั้งตากปกติการคลดดบุตรก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งและจำเลยที่ 2 ย่อมต้องมีความเจ็บปวดเป็นธรรมดาซึ่งจะต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือตนประการหนึ่งประการใด ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นในการคลอดบุตรของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2 เดือนเศษก็หาใช่ว่าเด็กทารกจะไม่มีชีวิตรอดอยู่เสมอไปไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะบิดาย่อมมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ดูแลบุตรด้วยการใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ถ้วนถี่เสียก่อนว่าบุตรที่เกิดมายังมีชีวิตรอดอยู่หรือไม่มิใช่ปล่อยให้จำเลยที่ 2 โยนบุตรทิ้งไปโดยมิได้ห้ามปราม ทั้ง ๆที่จำเลยที่ 1 สามารถใช้ความระมัดระวังในกรณีเช่นนี้ได้ จำเลยที่ 1จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 กำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share