คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526มาตรา 5 อนุมาตรา 3 ซึ่งมีความว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลต้องรับโทษทางอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิดย่อมแสดงว่ากฎหมายมุ่งที่จะคุ้มครองผู้สุจริตที่ถูกศาลพิพากษาผิดพลาดไปเนื่องจากเชื่อพยานหลักฐานในคดีก่อน แต่พยานหลักฐานใหม่จะต้องชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี โดยผู้ร้องต้องบรรยายรายละเอียดมาให้ปรากฏชัดแจ้งในคำร้องว่ามีที่มาอย่างไรและมีความสำคัญต่อคดีอย่างไร หากสามารถแนบเอกสารต่าง ๆ ประกอบมาด้วยเพื่อให้ศาลได้พิจารณาว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีหรือไม่อย่างไรก็ควรแนบมาด้วย เมื่อคำร้องระบุแต่เพียงว่าค้นพบใบเสร็จรับเงินที่ร้านค้าออกให้แก่ผู้ร้องในการซื้อสินค้าโดยมิได้บรรยายรายละเอียดของใบเสร็จรับเงิน คงกล่าวเพียงจะนำเสนอศาลในชั้นไต่สวนคำร้อง คดีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่มีมูล ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนย่อมไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่พ.ศ. 2526 มาตรา 10 เพราะอำนาจในการสั่งคำร้องเป็นของศาลอุทธรณ์แต่เมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งใหม่.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากนายอำนาจ พีระวัฒนสกุล ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7493/2528 หมายเลขแดงที่8950/2530 ของศาลชั้นต้น ข้อหาผิดพระราชบัญญัติศุลกากร ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ 12,029,604.52 บาท ไม่ชำระค่าปรับ ถูกกักขังแทนเป็นระยะเวลา 2 ปี ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2532 ผู้ร้องถูกกักขังแทนค่าปรับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2532 ตลอดมา ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน2532 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อ้างว่าสินค้าที่ผู้ร้องรับมานั้นทราบว่าบริษัทดี.ยู.อีเล็คโทรนิค ได้ส่งมากับเรือชื่อ “ไทยทับทิม” และเสียอากรขาเข้าต่อกรมศุลกากรถูกต้องตามกฎหมายทุกประการและค้นพบใบเสร็จรับเงินที่ร้านสมจิตรพาณิชย์และร้านสมศักดิ์พาณิชย์ออกให้แก่ผู้ร้องในการที่ผู้ร้องขอซื้อสินค้าดังกล่าวมาโดยถูกต้องซึ่งจะได้นำเสนอศาลในชั้นไต่สวนคำร้องต่อไป ซึ่งถือว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบแล้วจะแสดงให้เห็นว่าผู้ร้อง ไม่ได้กระทำความผิด ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ กับขอให้คืนสินค้าของผู้ร้องทั้งหมดที่ถูกริบ หากคืนไม่ได้ขอให้ใช้ราคากับขอให้ชดใช้ค่าทดแทนที่ผู้ร้องถูกกักขังแทนค่าปรับในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญานับตั้งแต่วันถูกกักขังจนถึงวันที่จะมีการปล่อยตัวผู้ร้องไป
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้ว วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่ ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องไม่ได้ส่งสำเนาให้ศาลตรวจสอบว่ามีอยู่จริงหรือไม่จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ พยานหลักฐานดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนก่อนนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำร้องของผู้ร้องข้อ 2 ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน2532 ผู้ร้องได้ทราบว่าบริษัท ด.ยู.อีเล็คโทรนิค ได้นำสินค้าดังกล่าวมากับเรือชื่อ “ไทยทับทิม” โดยเสียเงินอากรขาเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และภายหลังที่นายวิเชียร แสงน้อยเสียชีวิตแล้ว ซี.เค.อิมปอร์ต ก็ยังไม่มีการขอยกเลิกทะเบียนพาณิชย์ต่อกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อนายวิเชียร แสงนัอยเสียชีวิติ แล้ว ซี.เค.อิมปอร์ต ก็ยังได้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเป็นประจำโดยมีการชำระค่าอากรขาเข้าต่อกรมศุลกากรอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ผู้ร้องยังได้ค้นพบเอกสารใบเสร็จรับเงินที่ร้านสมจิตรพาณิชย์และร้านสมศักดิ์พาณิชย์ ออกให้แก่ผู้ร้องในการที่ผู้ร้องขอชื่อสินค้าดังกล่าวอย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ร้องจะได้นำเสนอศาลในชั้นไต่สวนคำร้องต่อไป จากคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวแล้วผู้ร้องได้ร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526โดยอ้างเหตุตามอนุมาตรา 3 แห่งมาตรา 5 ซึ่งมีความว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด พิเคราะห์แล้ว จากความในกฎหมายดังกล่าวมุ่งที่จะคุ้มครองผู้สุจริตที่ถูกศาลพิพากษาผิดพลาดไปเนื่องจากเชื่อพยานหลักฐานในคดีก่อน แต่พยานหลักฐานใหม่นี้จะต้องชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีอีกด้วย กล่าวคือ ผู้ร้องจะต้องบรรยายรายละเอียดมาให้ปรากฏชัดแจ้งในคำร้องขอว่ามีที่มาอย่างไรและมีความสำคัญต่อคดีอย่างไร หรือหากสามารถแนบเอกสารต่าง ๆ ประกอบคำร้องขอมาด้วยเพื่อให้ศาลได้พิจารณาว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีหรือไม่อย่างไรก็ควรแนบมาด้วย แต่ตามคำร้องขอ ของผู้ร้องระบุแต่เพียงว่า ค้นพบใบเสร็จรับเงินที่ร้านสมจิตรพาณิชย์ และร้านสมศักดิ์พาณิชย์ที่ออกให้แก่ผู้ร้องในการที่ผู้ร้องซื้อสินค้าดังกล่าวมาโดยถูกต้องซึ่งผู้ร้องมิได้บรรยายรายละเอียดของใบเสร็จรับเงินที่อ้างถึงมาแต่อย่างใด คงกล่าวเพียงว่าจะได้นำเสนอศาลในชั้นไต่สวนคำร้องต่อไป ซึ่งเป็นเพียงบรรยายถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในชั้นไต่สวนเท่านั้นที่ผู้ร้องฎีกาว่า ได้บรรยายมาในคำร้องครบถ้วนกระบวนความตามที่กฎหมายกำหนดแล้วและตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526ไม่ปรากฏว่าได้บัญญัติไว้ให้ผู้ร้องต้องเสนอเอกสารตามที่อ้างถึงมาพร้อมกับคำร้องขอนั้น เห็นว่า ดังได้วินิจฉัยแล้วว่าคำร้องต้องบรรยายรายละเอียดให้ปรากฏชัดแจ้งในคำร้องว่าพยานหลักฐานใหม่มีที่มาอย่างไรและสำคัญแก่คดีอย่างไรก่อน หรือแม้จะไม่มีเอกสารใดแนบมากับคำร้องขอก็ตาม ก็จะต้องบรรยายรายละเอียดมาดังกล่าวข้างต้นด้วยคดีจึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีอย่างไร คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่มีมูล ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องในคดีนั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.

Share