คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้น เป็นไปตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 3(3)ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณไว้ตามข้อ 12 ของระเบียบฉบับเดียวกันว่า ผู้มีเวลาทำงานไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าปี ให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน หารด้วยห้าสิบ หากมีเวลาทำงานไม่ถึงยี่สิบห้าปี ให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน หารด้วยห้าสิบ หลักเกณฑ์และการคิดคำนวณดังกล่าวแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายจำเลยย่อมผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 3 โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 20,470 บาท16,230 บาท และ 12,570 บาท ตามลำดับ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ทั้งสามทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 122,820 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 97,380 บาท และโจทก์ที่ 3จำนวน 75,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อเข้าทำงานโจทก์ทั้งสามสัญญากับจำเลยว่าจะปฏิบัติตามระเบียบของจำเลย ซึ่งหมายรวมถึงระเบียบของจำเลย ฉบับที่ 121และฉบับที่ 83 ที่กำหนดให้พนักงานของจำเลยพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน และเมื่อโจทก์ทั้งสามออกจากงาน จำเลยได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม(บำนาญ) ให้โจทก์ทั้งสามตามระเบียบ ฉบับที่ 67 ซึ่งมีลักษณะการจ่ายเช่นเดียวกับค่าชดเชย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามไม่เคยทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงยังไม่ผิดนัด โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 122,820 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 97,380บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 75,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามเมื่อออกจากงานถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้ว เห็นว่า เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้นเป็นไปตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 3(3) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณไว้ตามข้อ 12 ของระเบียบฉบับเดียวกันว่า ผู้มีเวลาทำงานไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าปี ให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน หารด้วยห้าสิบ หากมีเวลาทำงานไม่ถึงยี่สิบห้าปีให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน หารด้วยห้าสิบห้าดังนี้เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ว่ามีหลักเกณฑ์และการคิดคำนวณแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสามไม่เคยทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงมิได้ผิดนัดที่จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเมื่อไม่จ่ายจำเลยย่อมผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถามจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share