แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรที่ได้เสียไว้เกินภายใน 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเป็นอันสิ้นไปตามพ.ร.บ. ศุลกากรฯ พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า แต่กรมศุลกากรจำเลยโดยหัวหน้าฝ่ายกลาง กองพิธีการและประเมินอากร ปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเลยมอบหมาย มีหนังสือถึงโจทก์ภายหลังจากครบกำหนดอายุความว่าจำเลยได้พิจารณาสินค้าที่โจทก์นำเข้าและเสียอากรไว้นั้นปรากฏว่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระไว้เกิน จึงให้โจทก์ไปติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อจัดทำใบขนให้ถูกต้อง และขอคืนเงินที่ชำระไว้เกิน ที่กองคืนอากรและส่งเสริมการส่งออก ดังนี้เป็นการที่จำเลยยอมรับว่าโจทก์ชำระค่าภาษีอากรไว้เกิน และให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินภาษีอากรที่ชำระไว้เกินคืนจากจำเลยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2528 โจทก์ได้นำ Catalystเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในการกำจัดกลิ่นในการอบแผ่นเหล็กหรืออะลูมิเนี่ยมเคลือบสารเคมีหรือสีเพื่อนำมาใช้ในการผลิตฝาจีบได้ชำระค่าภาษีอากรตามพิกัดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยจึงโต้แย้งสงวนสิทธิไว้ ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม2530 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ ให้โจทก์ไปติดต่อขอคืนเงินที่ชำระเกิน โจทก์ไปดำเนินการตามหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2530 แต่จำเลยแจ้งต่อโจทก์เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2531 ว่าโจทก์ขอคืนเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี จึงหมดสิทธิโจทก์เห็นว่าเป็นความผิดของจำเลยที่พิจารณาเกี่ยวกับพิกัดล่าช้าและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ทั้งการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2530แจ้งมายังโจทก์นั้น ถือว่าจำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ขอให้จำเลยคืนเงินอากรพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินค่าอากรต่อจำเลย พ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด และการที่มีหนังสือถึงโจทก์เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิของโจทก์ว่ามีอยู่อย่างไรไม่มีข้อความว่าจำเลยได้สละสิทธิแห่งอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่าโจทก์นำของเข้าเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2528แต่มิได้ใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรที่ได้เสียไว้เกินภายใน 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าสิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นอันสิ้นไปตามที่พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติไว้ แต่จำเลยโดยนายเสถียรหัวหน้าฝ่ายกลางกองพิธีการและประเมินอากร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเลยมอบหมายได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9 ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2530 หลังครบกำหนดอายุความเรียกร้องขอคืนเงินอากรดังกล่าวแล้วว่า จำเลยได้พิจารณาสินค้าที่โจทก์นำเข้าและเสียอากรไว้ตามพิกัดประเภทที่ 69.14 อัตราอากรร้อยละ 80 หรือกิโลกรัมละ 10 บาทนั้นแล้ว เห็นว่า สินค้าของโจทก์จัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 69.08 อัตราอากรร้อยละ 35 ดังนั้นภาษีอากรที่โจทก์ชำระไว้จึงเกิน ให้โจทก์ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลางกองพิธีการและประเมินอากรเพื่อจัดทำใบขนให้ถูกต้องและขอคืนเงินที่ชำระไว้เกินที่กองคืนอากรและส่งเสริมการส่งออกต่อไป “เป็นการที่จำเลยยอมรับว่าโจทก์ชำระค่าภาษีอากรไว้เกินและให้โจทก์ไปขอรับคืนจากเจ้าหน้าที่ของจำเลย” ถือได้ว่าจำเลยละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความอันครบสมบูรณ์แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 จำเลยจึงยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินภาษีอากรที่ชำระไว้เกินรวม 261,239.78 บาทคืนจากจำเลยได้…
ที่จำเลยแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า นายเสถียรไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเป็นประเด็นที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษากลับให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 261,239.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท.