คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า จำเลยฆ่าผู้ตายคงมีแต่คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตาย และโจทก์มีพนักงานสอบสวนมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยให้การด้วยความสมัครใจ และได้พาพนักงานสอบสวนไปขุดหลุมที่ฝังศพของผู้ตาย นำอาวุธปืนลูกซองยาวมามอบให้เป็นของกลางรอยกระสุนปืนที่หน้าอกเสื้อของผู้ตายมีรู 3 รู สภาพศพสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและอาวุธปืนของกลาง จึงเป็นพยานแวดล้อมอื่น ๆ ที่รับฟังประกอบคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยลงโทษจำเลยได้ การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยมาลงโทษจำเลยนั้นจะต้องรับฟังให้ครบถ้วนทั้งหมด มิใช่แต่บางส่วน เมื่อข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย แสดงพฤติกรรมของผู้ตายว่า จะใช้มีดขอทำร้ายจำเลย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จึงเป็นการกระทำโดยป้องกัน แต่ผู้ตายไม่ได้จู่โจมเข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยอาจจะเลือกยิงอวัยวะอื่นที่ไม่เป็นอันตรายจนถึงตาย ได้ จำเลยกลับยิงที่หน้าอกของผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ลงโทษจำคุก 20 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เหตุเกิดที่ไร่ข้าวโพดของจำเลยซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านถึง 3 กิโลเมตรเศษ ขณะเกิดเหตุไม่มีบุคคลอื่นอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นการกระทำความผิดของคนร้ายที่ฆ่าผู้ตาย แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมานำสืบแต่ทางพิจารณาโจทก์ได้นำสืบคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย ป.จ.4ตามคำให้การดังกล่าว จำเลยรับสารภาพว่าเป็นคนใช้อาวุธปืนยาวของกลางยิงผู้ตายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2530 เวลาประมาณ 15 นาฬิกาเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย พันตำรวจโทอำพัน ไทยชาติพนักงานสอบสวนก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยได้ให้การด้วยความสมัครใจจำเลยก็เบิกความตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามค้านว่า การสอบสวนปากคำจำเลยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ซ้อมทำร้ายร่างกายจำเลยและจำเลยได้ลงชื่อในเอกสารที่เจ้าหน้าที่นำมาให้เซ็น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้บังคับหรือจับมือจำเลยเซ็นแต่อย่างใด นอกจากนี้พันตำรวจโทอำพันกับนายดาบตำรวจอนันต์อักษร ผู้จับกุมจำเลยยังเบิกความสอดคล้องกันว่าเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2530 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา ได้จับกุมจำเลยที่วัดเลยตาวตาด พันตำรวจโทอำพันสอบถามจำเลยว่าฆ่าผู้ตายหรือไม่ตอนแรกจำเลยมีอาการอึกอัก ในที่สุดจำเลยก็รับสารภาพและได้พาพันตำรวจโทอำพันกับพวกไปขุดหลุมศพที่ไร่ข้าวโพดของจำเลย ขุดพบศพชายคนหนึ่งถูกฝังอยู่จนเน่าเปื่อยแล้ว เสื้อของศพมีรอยกระสุน 3 รูตรงหน้าอก จำเลยรับว่าผู้ตายคือนายสังข์ทอง คันธี บุตรเขยของตนจำเลยยังได้นำอาวุธปืนลูกซองยาวมามอบให้เป็นของกลาง โดยรับว่าเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตาย ผลการตรวจพิสูจน์ของผู้ชำนาญ อาวุธปืนของกลางใช้ยิงได้และพบเขม่าดินปืนภายในลำกล้อง เชื่อได้ว่าใช้ยิงมาแล้วภายหลังการเช็ดล้างครั้งสุดท้าย ปรากฎตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.7 รอยกระสุนปืนที่หน้าอกเสื้อของผู้ตายมี 3 รูน่าเชื่อว่าถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกซอง สภาพศพจึงสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและอาวุธปืนของกลาง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีพยานวัตถุและสถานที่เกิดเหตุมาประกอบคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยได้ฆ่าผู้ตายจริงหาใช่มีแต่พยานเอกสารตามที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงตามคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย ป.จ.4 มาลงโทษจำเลย จึงต้องรับฟังให้ครบถ้วน จำเลยให้การถึงสาเหตุที่ใช้อาวุธปืนลูกซองยาวจของกลางยิงผู้ตายว่า วันเกิดเหตุจำเลยได้ต่อว่าผู้ตายที่ทุบตีนางสาครอยู่เสมอ และกล่าวหาว่าผู้ตายลักเงินสด 2,000 บาท ไป ผู้ตายพูดท้าทาย จำเลยจึงพูดว่าทำอย่างนี้ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ เป็นพ่อเป็นลูกกันต่อไปอีกไม่ได้ พอผู้ตายได้ยินก็โกรธพร้อมกับถือมีดขอเดินเข้าไปหาจำเลย พูดว่าาจะเอาอย่างไรก็เอา จะแน่สักแค่ไหนจำเลยร้องห้ามว่าอย่าเข้ามา แต่ผู้ตายไม่ยอมฟังเสียงกลับเดินเข้ามาจำเลยจึงใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงไปที่หน้าออกผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายล้มลงและถึงแก่ความตาย ตามคำให้การดังกล่าว พฤติกรรมของผู้ตายน่าเชื่อว่าจะใช้มีดขอทำร้ายจำเลย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงเป็นการกระทำโดยป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 แต่ผู้ตายไม่ได้จู่โจมเข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยอาจจะเลือกยิงอวัยวะอื่นที่ไม่เป็นอันตรายจนถึงตายได้ จำเลยกลับยิงที่หน้าอกของผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ ศาลฎีกาเห็นควรลงโทษสถานเบา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 68 และ 69 ลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.ม
ในคดีอาญา กรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน และพนักงานสอบสวนได้บันทึกคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยไว้ แต่เมื่อมาถึงชั้นพิจารณาของศาล จำเลยกลับให้การปฏิเสธและโจทก์ไม่สามารถนำประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาลได้ คงมีแต่คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยมายื่นต่อศาล ศาลฎีกาได้พิพากษาเป็นบรรทัดฐานตลอดมาว่า หากมีพยานแวดล้อมกรณีอื่น ๆ ที่สนับสนุนว่าคำให้การกระทำผิดจริงแล้ว ศาลก็รับฟังคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยประกอบพยานแวดล้อมกรณีอื่น ๆ นั้น ลงโทษจำเลยได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 121/2530,4550/2528,2015/1519,1559/2508
แต่สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ได้วางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมต่อไปว่า การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยมาลงโทษจำเลยนั้น จะต้องรับฟังได้ครบถ้วนทั้งหมดมิใช่รับฟังแต่เพียงบางส่วน ซึ่งเมื่อคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันแต่เกินสมควรแก่เหตุ ก็ลดโทษที่จะลงแก่จำเลยให้เบาลงได้.

Share