แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้รับพินัยกรรม. แต่โจทก์เป็นผู้ครอบครองมรดกแต่ผู้เดียว. เมื่อจำเลยมิได้ฟ้องร้องคดีเพื่อเรียกร้องเอามรดกตามพินัยกรรมจนพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงสิทธิซึ่งจำเลยมีอยู่ตามพินัยกรรมแล้ว. โจทก์ย่อมกล่าวอ้างอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสอง ขึ้นใช้ยันจำเลย และฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้คัดค้านการที่โจทก์ขอรับมรดกได้.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 เป็นบทบัญญัติถึงเรื่องการใช้อายุความหนึ่งปีขึ้นต่อสู้ว่าต้องเป็นทายาท.หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือผู้จัดการมรดก. โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรม จึงมีสิทธิกล่าวอ้างอายุความหนึ่งปีขึ้นใช้ยันจำเลยซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมด้วยกันได้.
ที่ดินมรดกมีหลายแปลง มีข้อกำหนดตามพินัยกรรมในเรื่องผู้จัดการมรดกเฉพาะที่ดินที่พิพาทกับผู้มีชื่อ. โดยไม่ได้ระบุว่าที่ดินแปลงใดอันจะเป็นมรดกที่มีผู้จัดการซึ่งมีสิทธิฟ้องเรียกเอาได้เกินหนึ่งปี. เมื่อจำเลยจะอ้างประโยชน์จากอายุความเพราะเหตุนี้. ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่จำเลย.
ที่ดินมรดกหลายแปลง. แปลงใดที่พินัยกรรมมิได้กำหนดให้มีผู้จัดการมรดก. ผู้รับพินัยกรรมจะฟ้องเรียกเอาเกินกว่าหนึ่งปีไม่ได้.
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมครอบครองที่ดินมรดกมาแต่ผู้เดียวเกินกว่าหนึ่งปี. ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับมรดก. จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่ามรดกรายนี้มีผู้จัดการอันจะทำให้มีสิทธิฟ้องร้องเกินหนึ่งปีได้.ประเด็นนี้จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น. ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย.เพราะเป็นเรื่องนอกประเด็น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พระภิกษุนิด ใจใหญ่ ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน4 แปลงเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์จำเลยคนละครึ่ง หลังพระภิกษุนิดมรณะโจทก์ได้ครอบครองที่ดินทั้งหมดด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาแต่ผู้เดียวเป็นเวลา 2 ปีเศษ จำเลยขาดสิทธิรับมรดกแล้ว กลับคัดค้านการที่โจทก์ขอรับมรดก ขอให้ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องคัดค้าน และสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลงใส่ชื่อโจทก์รับมรดกแต่ผู้เดียว จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้พยายามเรียกร้องเพื่อจะได้กรรมสิทธิ์จากโจทก์เคยฟ้องเรียกโฉนดจากโจทก์ และคัดค้านการยื่นคำขอของโจทก์อายุความเรียกร้องของจำเลยไม่ขาด ศาลชั้นต้นเห็นว่า สิทธิของจำเลยขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 วรรคสอง พิพากษาห้ามจำเลยคัดค้านการรับมรดกของโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้ามรดกกำลังมีคดีพิพาทกับนางยุพินเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน 4 แปลงนี้ ถ้าได้ที่ดินคืนมาก็ต้องตั้งให้จำเลย นายเจริญ และโจทก์กับนายพงษ์ เป็นผู้จัดการมรดก แต่ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไร คดีถึงที่สุดหรือยัง ได้ที่ดินคืนมาตามฟ้องหรือไม่ไม่ปรากฏ หากได้คืนมาก็เป็นมรดกที่มีผู้จัดการ ทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมไม่ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754, 1755เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 173 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองมรดกแต่ผู้เดียว และจำเลยได้รับทราบพินัยกรรมหลังวันเปิดพินัยกรรม1 เดือน พินัยกรรมเปิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2506 จำเลยจึงรู้ถึงสิทธิซึ่งจำเลยมีอยู่ตามพินัยกรรมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2506โจทก์ยื่นคำร้องขอรับมรดกตามพินัยกรรมต่อสำนักงานที่ดินวันที่4 พฤศจิกายน 2507 จำเลยยื่นคำคัดค้านวันที่ 9 พฤศจิกายน 2507พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามพินัยกรรม และจำเลยมิได้ครอบครองมรดก ดังนี้ โจทก์ย่อมกล่าวอ้างอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสองขึ้นใช้ยันจำเลย และฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้คัดค้านการที่โจทก์ขอรับมรดกได้ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นบุคคลภายนอก จะใช้มาตรา 1754บังคับไม่ได้ เพราะเป็นบทบัญญัติเฉพาะทายาทเท่านั้น ควรใช้มาตรา1755 ซึ่งบัญญัติยกเว้นผู้มิใช่ทายาท สิทธิเรียกร้องของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 เป็นบทบัญญัติถึงเรื่องการใช้อายุความหนึ่งปีขึ้นต่อสู้ว่าต้องเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือผู้จัดการมรดกและคดีนี้ โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้รับพินัยกรรมโจทก์จึงมีสิทธิกล่าวอ้างอายุความ 1 ปี ขึ้นใช้ยันจำเลยได้ว่าจำเลยหมดสิทธิเรียกร้องเอามรดกตามพินัยกรรมแล้ว เพราะจำเลยมิได้ฟ้องร้องคดีเพื่อเรียกร้องเอาภายในกำหนดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นอันตกไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้ามรดกกำลังมีคดีพิพาทเรื่องที่ดินมรดกอยู่กับนางยุพิน และถ้าได้มาก็ต้องตั้งให้จำเลยกับพวกเป็นผู้จัดการมรดก แต่ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไร คดีถึงที่สุดหรือยังได้ที่ดินคืนมาตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏ หากได้คืนมาก็เป็นมรดกที่มีผู้จัดการ ทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมไม่จำต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 173 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าคดีนี้เป็นมรดกที่มีผู้จัดการ อันจะทำให้มีสิทธิฟ้องร้องเกิน 1 ปี ประเด็นนี้จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ยกเอาเหตุนี้ขึ้นวินิจฉัยเอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นอีกประการหนึ่ง ข้อกำหนดตามพินัยกรรมในเรื่องผู้จัดการมรดก ก็มีแต่เฉพาะที่ดินที่เป็นคดีพิพาทกับนางยุพิน ไม่ได้รวมถึงที่ดินมรดกแปลงอื่น ฉะนั้นที่ดินมรดกแปลงอื่นจึงไม่เป็นมรดกที่มีผู้จัดการตามพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมจะฟ้องเรียกร้องเอาเกิน 1 ปีไม่ได้ในพินัยกรรมไม่ได้ระบุว่า ที่ดินแปลงใดที่พิพาทกับนางยุพินอันจะเป็นมรดกที่มีผู้จัดการตามพินัยกรรม ซึ่งมีสิทธิฟ้องเรียกเอาเกิน1 ปีได้ เมื่อจำเลยจะอ้างประโยชน์จากอายุความเพราะเหตุนี้ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่จำเลย แต่จำเลยไม่สืบพยาน จึงต้องแพ้คดีอยู่นั่นเอง พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.