คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2001/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีฟ้องขอหย่าและแบ่งทรัพย์ระหว่างกัน แต่คู่ความตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลเฉพาะในเรื่องแบ่งทรัพย์. ดังนี้ คำพิพากษาตามสัญญายอมเฉพาะในข้อตกลงแบ่งทรัพย์โดยไม่มีการหย่าขาดระหว่างกันนี้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด. การแบ่งทรัพย์นี้เป็นสัญญาระหว่างสามีภริยาอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461.

ย่อยาว

คดีมีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำต่อศาลทั้งนี้สืบเนื่องจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยอย่างคนอนาถา ขอให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาและให้แบ่งทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง แต่คู่ความตกลงคดีกันโดยทำสัญญาประนีประนอมแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากัน และศาลได้พิพากษาให้เป็นไปตามสัญญานี้แล้วจำเลยอุทธรณ์ว่าตามสัญญายอม โจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่โดยศาลพิพากษาเพียงให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างกันไม่ได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกันด้วย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ทั้งจะก่อความไม่สงบและมีปัญหาในเรื่องมรดกเมื่อฝ่ายใดตายลง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าสัญญายอมความนี้เป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเพียงให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยโดยมิได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกันนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ทั้งไม่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1486 กลับบัญญัติให้สามีภริยาตกลงแบ่งทรัพย์สินกันได้และไม่เป็นปัญหาในเรื่องมรดกพิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำต่อศาลจะมีการอุทธรณ์ได้ก็แต่ตามข้อยกเว้นสามประการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ในกรณีนี้จำเลยมิได้อ้างว่าโจทก์ฉ้อฉลตามข้อยกเว้นข้อ 1 และมิได้อ้างว่าคำพิพากษาไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความตามข้อยกเว้นข้อ 3 จำเลยคงฎีกาว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามข้อยกเว้นข้อ 2 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องขอหย่าและแบ่งทรัพย์ ข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์จึงเป็นการทำความตกลงในประเด็นข้อหนึ่งแห่งคดี และการแบ่งทรัพย์นี้เป็นสัญญาระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461จึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย พิพากษายืน.

Share