แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าพาหนะไปมาโรงพยาบาลเพื่อรักษาพยาบาลบาดแผลที่ถูกทำละเมิดเป็นค่าเสียหายที่เกิดโดยตรงสืบเนื่องจากการละเมิด.
โจทก์ถูกทำละเมิดแขนซ้ายพิการตลอดชีวิต. มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพราะเหตุทุพพลภาพได้.
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยทำสัญญากับจำเลยที่1 ว่า. จำเลยที่ 2 ยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1. เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบ. มีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน. ดังนั้นเมื่อจำเลย ที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์. โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยโดยตรงและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทปาดหน้ารถจักรยานยนต์ที่โจทก์นั่งซ้อนท้ายเสียหลักล้มลง โจทก์ตกจากรถได้รับบาดเจ็บสาหัสแขนซ้ายพิการ ยกไม่ได้ ขอคิดค่าเสียหาย 70,000 บาท โจทก์เสียค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะไปมาเพื่อตรวจรักษาอีก 1,000 บาทขอให้บังคับจำเลยใช้ จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาท โจทก์มิได้พิการตลอดชีวิต ค่าเสียหายที่เรียกสูงเกินควร จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ก่อนสืบพยาน จำเลยรับว่าจำเลยที่ 1 ขับรถประมาทจริง ขอต่อสู้เพียงว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินไป โจทก์ไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและพิการ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์เสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล 7,008.50 บาท และเสียค่าพาหนะไปมารักษาที่โรงพยาบาลอีก 1,000 บาท แขนซ้ายโจทก์พิการตลอดชีวิต เห็นควรให้ค่าเสียหาย 20,000 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม 28,008.50 บาท โจทก์อุทธรณ์ ขอค่าเสียหายที่แขนซ้ายพิการอีก 50,000 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและค่าเสียหายไกลกว่าเหตุ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพิ่มอีก 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 ยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบ มีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง บัญญัติว่า”บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง” ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยโดยตรง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า แขนซ้ายโจทก์ไม่พิการและศาลอุทธรณ์ให้ค่าเสียหายสูงเกินควรนั้น ศาลฎีกาฟังว่า แขนซ้ายโจทก์พิการตลอดชีวิตโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพราะเหตุต้องทุพพลภาพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 และเห็นว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ชอบด้วยพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนค่าพาหนะที่โจทก์เสียไปมาเพื่อนวดแขนที่โรงพยาบาล 1,000 บาท ก็เป็นค่าเสียหายโดยตรงสืบเนื่องจากโจทก์ถูกละเมิดและเป็นจำนวนพอสมควร พิพากษายืน.