คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2511

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

แม้โจทก์จำเลยจะตั้งประเด็นให้ศาลวินิจฉัยโดยเฉพาะ และต่างแถลงว่าประเด็นอื่นหากมีขอสละก็ตาม. ศาลย่อมมีอำนาจที่จะยกค่าภาคหลวงที่โจทก์คิดเกินขึ้นวินิจฉัยได้.เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมูลหนี้และอำนาจฟ้องในส่วนที่เรียกร้องเกินมา.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2505 จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ทำการผูกขาดเก็บใบลานอันเป็นของป่าหวงห้ามได้จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2507 โดยจำเลยได้ทำสัญญาว่าจำเลยจะชำระเงินค่าผูกขาดให้โจทก์รวม 30,300 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวดและจำเลยรับรองจะทำใบลานออกมาชำระค่าภาคหลวงให้โจทก์อย่างต่ำปีละ 3,000 บาทด้วย หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยชำระเงินค่าผูกขาดงวดแรก 12,300 บาทกับชำระเงินค่าภาคหลวงปีแรกเพียง2,000 บาทเท่านั้น ส่วนเงินค่าผูกขาดงวดที่ 2-3 รวม 18,000 บาทกับเงินค่าภาคหลวงปีแรกที่ค้างอยู่ 1,000 บาท และเงินค่าภาคหลวงปีที่ 2-3 เป็นเงิน 6,000 บาท รวมทั้งสิ้น 25,000 บาทนั้น จำเลยมิได้ชำระจนบัดนี้แต่จำเลยได้วางเงินประกันไว้ 3,000 บาท โจทก์จึงนำมาหักใช้หนี้ คงเหลือเงินที่จำเลยต้องใช้ให้โจทก์ 22,000 บาทแต่โจทก์ขอคิดเอาเพียง 20,000 บาท จำเลยไม่ชำระจึงฟ้องขอให้จำเลยใช้เงิน 20,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จ จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวไว้กับโจทก์จริงแต่ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิด และในวันนัดชี้สองสถาน คู่ความต่างไม่ขอสืบพยาน และขอให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะประเด็นเพียง 2 ข้อ คือ 1. การที่จำเลยได้มีหนังสือขอเลิกเก็บใบลานนั้น โจทก์จะต้องบอกเลิกสัญญากับจำเลยตามสัญญาข้อ 13 ท้ายฟ้องโจทก์หรือไม่ 2. เมื่อจำเลยมีหนังสือดังกล่าวขอเลิกสัญญาแล้ว และอธิบดีกรมป่าไม้ไม่วินิจฉัยโดยเร็ว เพิ่งจะแจ้งผลการวินิจฉัยให้จำเลยทราบเป็นเวลา 8 เดือนเศษให้หลังนั้นเป็นการขัดต่อสัญญาข้อ 14 ท้ายฟ้องและมาตรา 421 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาต่อไปหรือไม่ ประเด็นอื่นหากจะมิต่างสละ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ในประเด็นข้อ 1 โจทก์ไม่จำต้องบอกเลิกสัญญากับจำเลย ส่วนประเด็นข้อ 2 กรณีไม่เข้าตามสัญญาข้อ 14 หรือแม้จะเข้าข้อ 14 ก็ไม่มีกำหนดเวลาให้อธิบดีกรมป่าไม้ชี้ขาด และไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน20,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนชำระให้โจทก์เสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่ยอมเลิกสัญญาตามคำขอของจำเลยได้และจำเลยยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตแต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยใช้เงินค่าภาคหลวงปีที่ 3 อีกหนึ่งปีเป็นเงิน 3,000 บาทนั้น เกินไปหรือผิดไป เพราะใบอนุญาตมีเพียง 2 ปี เงินจำนวนนี้จึงต้องหักออกจากยอดเงิน 20,000 บาทที่โจทก์คิดลดหย่อนให้จำเลย จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 17,000 บาท นอกนั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยไม่เข้าประเด็น 2 ข้อที่โจทก์จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ฝ่ายโจทก์ฎีกาว่าจำเลยได้สละที่จะไม่โต้เถียงเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจแก้ไขจำนวนเงินนี้ หากจะแก้ไขก็ควรหักเงินค่าภาคหลวงปีที่ 3 จำนวน 3,000 บาทออกจากยอดเงิน 22,000 บาท ไม่ใช่หักจากยอด 20,000 บาท ที่โจทก์ลดหย่อนให้แล้ว ขอให้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิฉะนั้นก็ขอให้แก้ไขให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ 19,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์คิดค่าภาคหลวงเกินไป 1 ปี เป็นเงิน3,000 บาท แม้ในการชี้สองสถานโจทก์จำเลยจะขอให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะประเด็นดังกล่าวเพียง 2 ข้อ และสละประเด็นอื่นก็ตาม ศาลก็ยกข้อที่โจทก์คิดค่าภาคหลวงเกินขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมูลหนี้และอำนาจฟ้องในส่วนที่เรียกร้องเกินมาแต่อย่างไรก็ตาม เงินจำนวน 3,000 บาท ต้องหักออกจากยอดที่โจทก์คิดไว้เกินไม่ใช่จากยอดที่โจทก์ลดหย่อนให้จำเลยแล้ว พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงิน 19,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share