แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากที่ศาลพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์.ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นอีก. ดังนี้ การที่จำเลยซื้อที่พิพาทแล้วยกให้ผู้ร้อง. จึงเป็นการกระทำที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้โจทก์กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ. เป็นการฉ้อฉลโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237. โจทก์มีสิทธินำยึดที่พิพาทมาบังคับคดีชำระหนี้แก่โจทก์.
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์นำยึดที่ดิน 1 แปลงเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยการยึด ศาลชั้นต้นให้ถอนการยึด โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาเชื่อว่าเงินที่ใช้ในการซื้อที่พิพาททั้งหมดเป็นของจำเลยหรืออยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย จำเลยเป็นผู้ซื้อที่พิพาทให้แก่ผู้ร้อง โดยลงชื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและเป็นเจ้าของศาลฎีกาเห็นว่า การยกที่พิพาทให้ผู้ร้อง จำเลยกระทำหลังจากที่ศาลได้พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด คือ ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงินหนึ่งหมื่นแปดร้อยบาทแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นอีก ดังนี้ การที่จำเลยซื้อที่พิพาทให้ผู้ร้อง จึงเป็นการกระทำที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้โจทก์กระทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์มีสิทธินำยึดที่พิพาทมาดำเนินการบังคับคดีเอาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า คดีนี้เป็นกรณีที่นายเก๋าขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้อง จำเลยเพียงแต่เป็นผู้กระทำนิติกรรมแทนผู้ร้อง ไม่เป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้นั้น ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน.