แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นห้างหุ้นส่วนประกอบการเดินรถยนต์ขนส่งคนโดยสาร. จำเลยที่ 2 ได้นำรถคันเกิดเหตุเข้าวิ่งรับส่งคนโดยสารในเครือของจำเลยที่ 3.โดยจำเลยที่ 3 หักรายได้จากค่าโดยสารที่จำเลยที่ 2ได้รับไป 10 เปอร์เซ็นต์ 15 วันคิดกันครั้งหนึ่ง.ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 มาขับรถดังกล่าวแทนคนขับประจำรถซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2. เมื่อจำเลยที่ 2-3 เป็นผู้ขนส่งคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608. และเหตุที่โจทก์ได้รับความเสียหายนั้นไม่ได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือความผิดของโจทก์แต่ประการใด. จำเลยที่ 2-3 จึงต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634. แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2-3 ก็ตาม.จำเลยที่ 2-3 จะอ้างเหตุไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2, 3จำเลยที่ 2, 3 เป็นเจ้าของรถยนต์และครอบครองรถยนต์หมายเลขส.ข.01293 จำเลยที่ 3 เป็นห้างหุ้นส่วน มีวัตถุประสงค์ทำการเดินรถขนส่งคนโดยสาร จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์ดังกล่าวเข้ารับส่งคนโดยสารในเครือของห้างจำเลยที่ 3 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถคันดังกล่าว โดยประมาททำให้รถตะแคงครูดไปกับพื้นถนน โจทก์ได้รับบาดเจ็บแขนขวาขาด สร้อยทองคำและเงินสดหายไปรวม 1,650 บาท โจทก์ขอเรียกค่าทดแทน 50,000 บาทค่าเลี้ยงดูในระหว่างเป็นผู้เยาว์ 7 ปี คิดเป็นเงินเดือนละ 300บาท รวมเป็นเงิน 25,200 บาท และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 680 บาทจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและพิจารณา จำเลยที่ 2, 3 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง รถยนต์คันเกิดเหตุไม่ใช่ของจำเลยทั้งสอง จำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่เสียหายมากดังฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุม ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องไม่เคลือบคลุมและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2, 3 จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาททำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการละเมิด จำเลยที่ 2, 3 ต้องร่วมรับผิดด้วย พิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกัน ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 32,330 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2, 3 ฎีกา ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ทำการเดินรถยนต์ขนส่งผู้โดยสาร ส่วนจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุเข้าวิ่งรับส่งคนโดยสารในเครือของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 หักรายได้จากค่าโดยสารที่จำเลยที่ 2ได้รับไป 10 เปอร์เซ็นต์ สิบห้าวันคิดกันครั้งหนึ่ง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2, 3 เป็นผู้ขนส่งคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 608 แล้วซึ่งตามมาตรา 634 บัญญัติว่า “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา ฯลฯ เว้นแต่การเสียหาย ฯลฯ นั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง” คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้โดยสารรถยนต์ซึ่งอยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ 2, 3 และเหตุที่โจทก์ได้รับความเสียหายนั้นไม่ได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือความผิดของโจทก์แต่ประการใด ฉะนั้นจำเลยที่ 2, 3 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวข้างต้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2, 3 ก็ตาม จำเลยที่ 2, 3 จะอ้างเหตุไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่ โจทก์ได้รับอันตรายแขนขวาขาดถึงหัวไหล่ศาลอุทธรณ์พิจารณาให้ 30,000 บาท พอสมควรแก่รูปคดีแล้ว พิพากษายืน.