คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4177/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานไว้แล้วตามบัญชีระบุพยานฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2528 ส่วนที่จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอระบุเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานเพิ่มเติมตามคำร้องและบัญชีพยานฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2528 ซึ่งศาลชั้นต้นไม่อนุญาตนั้น เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานมาซ้ำซ้อน ทั้งตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขอส่งต้นฉบับเอกสารหมาย ล.1 ต่อศาลเพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำจำเลยที่ 2 มาสืบประกอบกับพยานเอกสารนั้นได้ กรณีเช่นนี้อยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวหรือไม่ มิใช่ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงรับฟังไม่ได้ สัญญาที่โจทก์ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์ให้โจทก์ มีข้อความในข้อ 9 ค. ระบุว่า “เมื่อผู้จำหน่ายได้เงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าแล้วจะต้องรีบส่งเงินจำนวนนั้นทั้งหมดให้แก่บริษัท พร้อมรายละเอียดโดยครบถ้วนภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ผู้จำหน่ายได้รับจากลูกค้า” ย่อมถือได้ว่า นอกจากโจทก์จะตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จำหน่ายแล้ว ยังให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ได้ด้วย การรับเงินค่ารถแทรกเตอร์ของจำเลยที่ 2ไว้จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติการไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน โจทก์ซึ่งเป็นตัวการต้องผูกพันต่อการชำระหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ไถนาพร้อมอุปกรณ์จากโจทก์ในราคา 285,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงิน60,000 บาท ในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระ 7 งวดผิดนัดงวดหนึ่ง งวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเพียง 4 งวด และงวดที่ 5 บางส่วนเป็นเงิน 115,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อ110,000 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว แต่จำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยส่งมอบรถในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคา 50,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ6,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ความจริงจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อรถไถนาคันพิพาทจากร้านบุรีรัมย์ยนต์ไทย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำหน่าย ในราคาเงินสด287,000 บาท ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้ยกรถยนต์ฟอร์ด ตีชำระราคาเป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมออกเช็คเงินสดให้อีก 17,000 บาทส่วนที่เหลือ 150,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ชำระเป็นเช็ค 5 ฉบับฉบับละ 30,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้นำแบบฟอร์มให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อโดยไม่ได้กรอกข้อความ อ้างว่าต้องส่งให้บริษัทใหญ่ในกรุงเทพมหานครเพื่อจะได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถไถนาคันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไปเมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เรียกเก็บเงินเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 โอนรถไถนาคันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ยังไม่ได้ส่งมาให้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยส่งมอบรถคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยหากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคา 40,000 บาทแทน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ชำระราคารถแทรกเตอร์ไถนาคันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ไปครบถ้วนแล้ว และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 ระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อสืบพยานโจทก์แล้วทั้งมิได้อ้างเหตุตามกฎหมายและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ระบุพยานเพิ่มเติมไปแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นบัญชีระบุเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานไว้แล้วตามบัญชีพยานฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2528 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอระบุเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานเพิ่มเติมตามคำร้องและบัญชีพยานฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2528 ซึ่งศาลชั้นต้นไม่อนุญาตนั้น เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานมาซ้ำซ้อน ทั้งตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขอส่งต้นฉบับเอกสารหมาย ล.1 ต่อศาล เพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำจำเลยที่ 2 มาสืบประกอบกับพยานเอกสารดังกล่าวนั้นได้ กรณีเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวหรือไม่ มิใช่ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงรับฟังไม่ได้
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้จำหน่ายรถแทรกเตอร์ให้โจทก์ หาใช่เป็นตัวแทนของโจทก์ไม่ แม้จำเลยที่ 2จะรับเงินจากจำเลยที่ 1 การรับเงินดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์นั้นเห็นว่า พยานของจำเลยที่ 1 นอกจากจะมีพยานบุคคลมาเบิกความว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์ให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีเอกสารหมาย ป.ล.3 ซึ่งเป็นสัญญาที่โจทก์ตั้งจำเลยที่ 2เป็นผู้จำหน่ายรถแทรกเตอร์ให้โจทก์เป็นหลักฐานด้วย สัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 9 ค. ระบุว่า “เมื่อผู้จำหน่ายได้รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าแล้ว จะต้องรีบส่งเงินจำนวนนั้นทั้งหมดให้แก่บริษัทพร้อมรายละเอียดโดยครบถ้วนภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ผู้จำหน่ายได้รับเงินจากลูกค้า” สัญญาข้อนี้ย่อมถือได้ว่านอกจากโจทก์จะตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จำหน่ายแล้วยังให้จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ได้ด้วยการรับเงินค่ารถแทรกเตอร์ของจำเลยที่ 2 ไว้จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติการไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน โจทก์ซึ่งเป็นตัวการต้องผูกพันต่อการชำระหนี้ดังกล่าวนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 820 โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share