แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยหน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 15 เมษายน 2535 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยให้มายื่นฎีกาและรับทราบคำสั่งศาลลงชื่อไว้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยยอมรับผูกพันตนเองว่าจะมาฟังคำสั่งในวันดังกล่าว ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฎีกาจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 5 วัน โดยมีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2535 ฉะนั้น แม้จำเลยจะมิได้มาฟังคำสั่งก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้จำเลยโดยชอบและจำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2535 เมื่อจำเลยเพิกเฉยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 26,600 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 ฎีกาของจำเลยทั้งสองหน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 15 เมษายน 2535 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีลายมือชื่อผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยทั้งสองให้มายื่นฎีกาและรับทราบคำสั่งศาลเซ็นไว้ในช่องระหว่างคำว่า “(ลงชื่อ)” และคำว่า “ผู้ร้องหรือผู้ยื่น” ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 ให้รับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและ “ให้จำเลยนำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้จำเลยแถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าทิ้งฟ้องฎีกา” ต่อมาวันที่4 พฤษภาคม 2535 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีมีหนังสือรายงานศาลชั้นต้นว่า พ้นกำหนด 5 วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งแล้วจำเลยทั้งสองไม่มาดำเนินการนำส่งสำเนาฎีกา ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นโจทก์ในชั้นฎีกาจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 5 วัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันหลังจากจำเลยทั้งสองยื่นฎีกา 1 วัน ก็ตาม การที่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยทั้งสองให้มายื่นฎีกาและรับทราบคำสั่งศาลลงลายมือชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองยอมรับผูกพันตนเองว่าจะมาฟังคำสั่งในวันที่15 เมษายน 2535 ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งแล้วนอกจากนี้ก็ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวในฎีกาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2535 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถึงวันที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองมาทราบคำสั่ง ฉะนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้จำเลยทั้งสองโดยชอบและจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2535ระยะเวลาสิ้นสุดที่จำเลยทั้งสองจะต้องนำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้น คือวันที่ 20 เมษายน 2535 แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 ว่า จำเลยทั้งสองเพิกเฉยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาในกำหนดนั้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา