คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่และไม่ปรากฏว่าได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในเรื่องทรัพย์สินนั้น จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534จะมีการแบ่งสินสมรสได้ต่อเมื่อมีการหย่ากันเท่านั้น และแม้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะจำหน่ายสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวหรือในกรณีอื่นตามที่มาตรา 1534 บัญญัติไว้กฎหมายก็ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรส เมื่อกฎหมายให้ถือเสมือนว่ารถยนต์ยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินที่ได้จากการขายรถยนต์จากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการและไปทำงานที่โรงงานบริษัทไทยโอซูก้า จำกัด ที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ หมายเลขทะเบียน7ข-8812 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสินสมรสไปด้วย และจำเลยที่ 1โอนขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ไปในราคา 50,000 บาทโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการจำเลยจ่ายโอนสินสมรสโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์และจำเลยที่ 2 กระทำการไม่สุจริตเพราะควรจะรู้ได้ว่าจำเลยที่ 1จะต้องมีภริยาที่จะต้องให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม ขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์หรือให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 25,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า รถยนต์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจจำหน่ายรถยนต์พิพาทได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ แม้จะฟังว่ารถยนต์พิพาทเป็นสินสมรสโจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการโอนได้ เนื่องจากเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้นซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าการจำหน่ายจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เงินขายรถยนต์พิพาท50,000 บาทจำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1ชำระเงิน 25,000 บาท จากการจำหน่ายรถยนต์พิพาท เพราะเป็นการฟ้องแบ่งสินสมรส ซึ่งโจทก์จะฟ้องได้ต่อเมื่อได้มีการหย่ากันเสียก่อน แต่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ไม่ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2ซื้อจากตลาดนัดรถยนต์สหมิตร ซึ่งเป็นสถานที่ซื้อขายและรับแลกเปลี่ยนรถยนต์และจำเลยที่ 1 ได้ขายรถยนต์พิพาทในตลาดนัดรถยนต์ดังกล่าวจำเลยที่ 2 ซื้อมาด้วยความสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยสมควรแก่ราคาและประโยชน์ที่ได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 25,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 มกราคม2529 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2513 มีบุตรด้วยกัน 3 คนขณะนี้แยกกันอยู่แต่ยังมิได้หย่าขาดจากกัน เมื่อวันที่ 28 มกราคม2529 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ราคา 50,000 บาท อันเป็นสินสมรสไปขายโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์และนำเงินที่ขายได้ไปใช้แต่ผู้เดียวไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินที่ได้จากการขายรถยนต์พิพาทครึ่งหนึ่งจำนวน 25,000 บาท จากจำเลยที่ 1หรือไม่ เห็นว่าเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่และไม่ปรากฏว่าได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรสความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในเรื่องทรัพย์สินนั้น จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากันและมาตรา 1534 บัญญัติว่า สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดีจำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่จะแบ่งสินสมรสได้เมื่อมีการหย่ากันเท่านั้น และแม้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะจำหน่ายสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวหรือในกรณีอื่นตามที่มาตรา 1534 บัญญัติไว้กฎหมายก็ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรส แสดงว่ากฎหมายมิได้มุ่งประสงค์ให้แบ่งสินสมรสกันได้หากคู่สมรสยังเป็นสามีภริยากันอยู่และกรณีตามคำฟ้องของโจทก์ แม้โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ก็ตาม แต่ปัญหาชั้นฎีกาก็มีเพียงคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ซึ่งเป็นคำขอแบ่งสินสมรสเท่านั้นเมื่อกฎหมายให้ถือเสมือนว่ารถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินที่ได้จากการขายรถยนต์พิพาท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share