แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ธนาคารโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับยอดเงินที่จำเลยที่ 1ค้างชำระคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจทำให้จำเลยสับสนได้ แต่โจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับยอดหนี้ ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับเอกสารท้ายฟ้องและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตแล้ว ย่อมมีผลให้คำฟ้องของโจทก์ไม่คลาดเคลื่อนและไม่ทำให้จำเลยสับสนอีกต่อไป จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้สะพัดทางบัญชีตลอดมานับถึงวันที่ 5 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวน 34,532.91 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 851.50 บาท รวมเป็นเงิน 35,384.41 บาทขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ให้ต้นเงิน 34,532.91 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้และชำระหนี้ไปแล้วเพียงใดคำฟ้องเกี่ยวกับยอดหนี้สับสน ทั้งยังขัดแย้งกับเอกสารท้ายฟ้องทำให้จำเลยไม่เข้าในคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อ 2(ค) ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์เป็นธนาคารยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาสับสนเกี่ยวกับยอดหนี้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับยอดเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระคลาดเคลื่อนอาจทำให้จำเลยทั้งสองสับสนได้ แต่โจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับยอดหนี้ดังกล่าวให้ถูกต้องและสอดคล้องกับเอกสารท้ายฟ้องและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตแล้วย่อมมีผลให้คำฟ้องของโจทก์ไม่คลาดเคลื่อน และไม่ทำให้จำเลยทั้งสองสับสนอีกต่อไป จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม”
พิพากษายืน