คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3731/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงาน และนายจ้างได้ทราบผลการประชุมของคณะกรรมการสหภาพแรงงานแล้วว่าผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน ถือได้ว่าคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 แล้ว แม้จะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนรับรองการเป็นกรรมการก็ตาม จึงมีอำนาจตั้งคณะกรรมการลูกจ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างในระหว่างที่โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยมีคำสั่งลงวันที่ 13พฤษภาคม 2535 ลงโทษโจทก์ด้วยการว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 ขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษด้วยการว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่13 พฤษภาคม 2535
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลแรงงานเพื่อขอลงโทษโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าทำงานเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 ลูกจ้างของจำเลยมีสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทย เดือนกันยายน 2534 มีการประชุมสามัญประจำปีของสหภาพแห่งนี้เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหาร และทางสหภาพแรงงานดังกล่าวได้ยื่นขอจดทะเบียนผู้เป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน แต่นายทะเบียนประจำจังหวัดชลบุรียังไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนให้ได้เนื่องจากสหภาพแรงงานดังกล่าวขาดส่งเอกสารบางอย่าง โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2534 และวันที่ 7, 9 และ 12 พฤษภาคม2535 ระหว่างเวลาทำงานโจทก์เดินไปแผนกคิวซีในโรงงานที่สองที่สามหลายครั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เป็นการทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย ข้อ 9 จำเลยจึงลงโทษโจทก์โดยการว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือลงวันที่ 13 พฤษภาคม2535 จำเลยทราบผลการประชุมของสหภาพแรงงานดังกล่าวแล้วว่า ผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารบ้าง เมื่อที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานเลือกผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงานแล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คณะกรรมการสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยจึงสามารถตั้งคณะกรรมการลูกจ้างซึ่งรวมทั้งโจทก์ได้ โจทก์จึงได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52จำเลยจะลงโทษโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2535ที่ลงโทษโจทก์โดยการว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้มีการประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโดยยังมิได้มีการจดทะเบียนรับรองการเป็นกรรมการ คณะกรรมการบริหารสหภาพดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนสหภาพ และไม่มีอำนาจตั้งคณะกรรมการลูกจ้างซึ่งมีโจทก์ร่วมอยู่ด้วย จำเลยจึงลงโทษโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางก่อนนั้น เห็นว่า การจดทะเบียนคณะกรรมการของสหภาพแรงงานเป็นเพียงวิธีการทางกฎหมาย เพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงาน และจำเลยได้ทราบผลการประชุมของคณะกรรมการสหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยดังกล่าวแล้วว่าผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานนี้จึงถือได้ว่าคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวเป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แล้วจึงมีอำนาจตั้งคณะกรรมการลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ได้ และตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 ได้บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการลูกจ้าง…เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง ด้วยการว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางก่อน ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2535 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share