คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3632/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 เป็นบทบัญญัติที่ใช้ในชั้นที่จำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ไม่ใช้ในชั้นสอบสวนคำให้การผู้ต้องหา ทั้งมาตรา 134 และ 135 ก็มิได้บัญญัติว่าการบันทึกคำให้การผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนจะต้องให้โอกาสผู้ต้องหาได้ปรึกษากับทนายความก่อน จึงจะสมบูรณ์รับฟังเป็นพยานหลักฐานยันผู้ต้องหาในการพิจารณาคดีของศาลได้ ดังนั้น ศาลจึงรับฟังคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่ถูกกล่าวหาได้ แม้จำเลยจะไม่มีโอกาสได้ปรึกษากับทนายความก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 91, 371, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 12 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 13 ปี 6 เดือน ของกลางริบจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 8 ปีฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 8 เดือนฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือนรวมจำคุก 8 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การชั้นสอบสวนโดยไม่มีโอกาสได้ปรึกษากับทนายความก่อน ทั้ง ๆ ที่กฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยไว้ จึงเป็นคำให้การที่ไม่สมบูรณ์ที่ศาลจะนำมารับฟังได้นั้นเห็นว่า ในเรื่องเกี่ยวกับทนายความนั้นคงมีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไปแต่ไม่ถึงประหารชีวิต และในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบเจ็ดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไปแต่ไม่ถึงสิบปีถ้าจำเลยไม่มีทนายและต่อสู้คดีโดยแถลงต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาว่าจำเลยยากจนและต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายให้…”ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในชั้นที่จำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว มิใช่บทบัญญัติที่ใช้ในชั้นสอบสวนคำให้การผู้ต้องหา จึงนำมาปรับกับข้อฎีกาของจำเลยไม่ได้ส่วนในชั้นสอบสวนมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 บัญญัติไว้ว่า”เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหาให้ถามชื่อตัว นามสกุล ชาติ บังคับ บิดามารดา อายุอาชีพ ที่อยู่ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ และต้องบอกให้ทราบก่อนว่า ถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการล่อลวงหรือขู่เข็ญ หรือให้สัญญากับผู้ต้องหาเพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น” บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าการบันทึกคำให้การผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนจะต้องให้โอกาสผู้ต้องหาได้ปรึกษากับทนายความก่อนจึงจะสมบูรณ์รับฟังเป็นหลักฐานยันผู้ต้องหาในการพิจารณาคดีของศาลได้ ดังนั้นข้อฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share