แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันที่ 25 มีนาคม 2535 ทนายความจำเลยผู้มีอำนาจใช้สิทธิฎีกาได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นฎีกาคำร้องคำแถลงเสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลและนำหมายฎีกา ในวันเดียวกันนั้นเองเสมียนทนายได้ลงนามรับทราบข้อความที่ว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 1 เมษายน 2535 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาของจำเลยให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 5 วัน จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถือได้ว่าเป็นการทิ้งคำฟ้องฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารเฉพาะส่วนที่สร้างผิดแบบที่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารตามคำฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 5 วัน หลังจากนั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีรายงานศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาฎีกา ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นที่จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกานายเกียรติชัยทนายความจำเลยผู้มีอำนาจใช้สิทธิในการฎีกาได้มอบฉันทะให้นายเอกชัยเสมียนทนายมายื่นฎีกา คำร้องคำแถลงเสียค่าฤชาธรรมเนียมศาล และนำหมายฎีกาตามใบมอบฉันทะฉบับลงวันที่25 มีนาคม 2535 นายเอกชัยได้ยื่นคำฟ้องฎีกา ฉบับลงวันที่ 25มีนาคม 2535 ในวันเดียวกันนั้นเองและนายเอกชัยได้ลงนามรับทราบข้อความที่ว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 1 เมษายน 2535ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2535ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาของจำเลย ให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 5 วัน จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วต่อมาเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีผู้มีหน้าที่ส่งสำเนาคำฟ้องฎีการายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 จำเลยไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่ง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและจำเลยได้ทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการทิ้งคำฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 247
ให้จำหน่ายคดีของจำเลยออกจากสารบบความของศาลฎีกา