คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3527/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งสองมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. และ น. หรือไม่ กับมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และน. หรือไม่ ส่วนคดีนี้ประเด็นข้อพิพาทเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งมรดกของ ส. จากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของส.และน.กับเรียกมรดกของส. คืนจากจำเลยทั้งสองที่รับโอนไปโดยมิชอบคนละประเด็นกับที่ได้วินิจฉัยในคดีก่อน จึงมิใช่เป็นการรื้อฟ้องร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ล. เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ส. เจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629(3) เมื่อ ล.ตายก่อน ส. โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ ล. จึงมีสิทธิรับมรดกของ ส. แทนที่ ล. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 ที่ดินแปลงที่ น. ได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากับ ส.ก่อนจดทะเบียนสมรสกันย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมกันคนละส่วน เมื่อ น.ตายก่อน ส. ส่วนที่เป็นของ น. จึงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1บิดาของ น. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม และ ส. คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635(2) ส. จึงมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว 3 ใน 4 ส่วน เมื่อ ส. และ น. ต่างฝ่ายต่างมีสินเดิม การแบ่งเงินฝากในธนาคารซึ่งเป็นสินสมรสจึงต้องแบ่งกันคนละส่วน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1625(1) ประกอบมาตรา 1517(เดิม) ส่วนของ น. ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 และ ส.คนละกึ่งหนึ่งส. จึงมีส่วนในเงินฝาก3 ใน 4 ส่วน การที่จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากธนาคารไปทั้งหมด จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ส.3 ใน 4 ส่วน.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1ดำเนินคดีนี้แทนเมื่อประมาณปี 2488 นายสด อินทร ได้แต่งงานและอยู่กินฉันสามีภรรยากับนางสำเนียง อินทร โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2517 จึงได้จดทะเบียนสมรสกันก่อนแต่งงานนายสดมีสินเดิมจำพวกเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินราคา 61,100 บาท นางสำเนียงมีสินเดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจังหวัดฉะเชิงเทรา เฉพาะส่วนของนางสำเนียงเนื้อที่ 13 ไร่86 ตารางวา ราคา 26,000 บาท ระหว่างอยู่กินด้วยกันก่อนจดทะเบียนสมรส ได้ร่วมกันซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 1 แปลง โฉนดเลขที่10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา ราคา30,600 บาท โดยใส่ชื่อนางสำเนียงถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียวหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ได้ร่วมกันทำมาหาได้เกิดสินสมรสหลายรายการมีเงินฝากธนาคาร 45,000 บาท กับทรัพย์สินอื่นรวมแล้วคิดเป็นเงิน 54,877 บาท และสินเดิมส่วนของนายสดได้ขาดหายไปราคา 54,100 บาท นายสดและนางสำเนียงไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2518 นางสำเนียงถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างนายสดคู่สมรสและนางสำเนียงเจ้ามรดก โดยนำสินสมรสที่นายสดและนางสำเนียงทำมาหาได้ร่วมกันไปชดใช้แทนสินเดิมของนายสดที่ขาดหายไป 54,100 บาท ยังเหลือสินสมรสอีกจำนวนเท่าใดแบ่งเป็นของนายสดกึ่งหนึ่ง และเป็นของนางสำเนียงกึ่งหนึ่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 เป็นทรัพย์สินที่นายสดและนางสำเนียงทำมาหาได้ร่วมกันก่อนจดทะเบียนสมรส นายสดจึงมีกรรมสิทธิ์อยู่ด้วยกึ่งหนึ่งและนางสำเนียงมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงเป็นสินเดิมของนางสำเนียง ทรัพย์สินส่วนที่เป็นของนางสำเนียงทั้งหมด คือสินสมรสส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 10263กึ่งหนึ่ง และที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงซึ่งเป็นสินเดิมของนางสำเนียง เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของนางสำเนียงคือจำเลยที่ 1 บิดานางสำเนียง และนายสดคู่สมรสคนละกึ่งหนึ่งเมื่อรวมทรัพย์สินส่วนของนายสดและที่นายสดได้รับส่วนแบ่งจากมรดกของนางสำเนียงแล้ว นายสดจะมีทรัพย์สิน คือสินเดิมของนายสดราคา61,100 บาท สินสมรสส่วนที่เหลือ 3 ใน 4 ส่วน ที่ดินโฉนดเลขที่10263 3 ใน 4 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวาและที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงที่เป็นสินเดิมกึ่งหนึ่ง เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา ทรัพย์มรดกของนางสำเนียงส่วนที่เหลือจากแบ่งให้นายสดแล้วทั้งหมดตกได้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2519 นายสดถึงแก่ความตายทรัพย์สินของนายสดทั้งหมดแยกเป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของนายสด คือโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่นางลำเจียก จันทร์สว่าง พี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสดและโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายสดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2519 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของนางสำเนียงได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายสดและนางสำเนียง ขอให้สั่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองของจำเลยที่ 2 ผู้เยาว์ด้วย ซึ่งเป็นความเท็จ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปกครองจำเลยที่ 2 ตามขอ ต่อมา โจทก์ที่ 2 ทราบเรื่องได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง กับให้ส่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นบุตรของนายสดและนางสำเนียงแต่จำเลยที่ 1 มีสิทธิขอจัดการมรดกของนางสำเนียง และไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายสดต่อไป ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายสดและนางสำเนียง ปรากฏว่าเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียง จำเลยที่ 1ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงเป็นของจำเลยที่ 1 และโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ส่วนที่เป็นมรดกของนายสดได้ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกประมาณปีละ 90 ถัง ตั้งแต่ปี 2519-2521 รวม 3 ปีได้ข้าวเปลือกเป็นค่าเช่า 270 ถัง คิดเป็นเงิน 6,750 บาท ค่าเช่าดังกล่าวนี้เป็นดอกผลอันเกิดจากที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของนายสดจำเลยที่ 1 ได้เก็บเอาข้าวเปลือกค่าเช่าไป จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของนายสดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่จัดการแบ่ง ขอให้บังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราแก้ทะเบียนเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6900ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เป็นชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทั้งสองโฉนดให้เอาสินสมรสระหว่างนายสดและนางสำเนียงไปใช้สินเดิมของนายสดส่วนที่ขาดหายไป 54,100 บาทจนได้สินเดิมครบราคา 61,100 บาท แล้วส่งมอบสินเดิมของนายสดให้โจทก์ทั้งสองต่อไปและให้แบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่6900 เฉพาะส่วนของนางสำเนียงให้โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่งและแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ให้โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้เอาที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวออกขายทอดตลาดเอาเงินสุทธิแบ่งให้โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบข้าวเปลือกจำนวน270 ถัง ราคา 6,750 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ถือเอาคำพิพากษาคดีนี้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า นายสดและนางสำเนียงมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือจำเลยที่ 2 กองมรดกของนายสดและนางสำเนียงจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงสองคนเท่านั้น โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทในลำดับถัดไปไม่มีสิทธิได้รับมรดกรายนี้ จำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกนายสดและนางสำเนียงได้จัดการมรดกไปถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หากจะฟังว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรของนายสดและนางสำเนียง กองมรดกก็ตกได้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เดียว นายสดไม่เคยมีสินเดิมมาก่อนอยู่กินกับนางสำเนียง ได้อาศัยทำกินอยู่ในบ้านเรือนของจำเลยที่ 1 เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินก็ดี ที่ดินก็ดีล้วนแต่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้เกื้อกูลให้นางสำเนียงเป็นสินส่วนตัว โดยเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา นางสำเนียงได้มาตั้งแต่ยังเป็นผู้เยาว์กึ่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2508 จำเลยที่ 1ได้ออกเงินซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน)อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่นางสำเนียง ขณะนั้นนายสดและนางสำเนียงยังมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวนายสดจึงไม่มีส่วนได้ในฐานะหุ้นส่วน โจทก์ที่ 2 เคยฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงกับขอให้ส่งมอบทรัพย์มรดกแก่โจทก์ที่ 2มาแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลได้หมายเรียกนางพิกุล ยอดเจริญ บุตรจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนต่อมานางชิต ยอดเจริญ ภรรยาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 อีกศาลชั้นต้นอนุญาต และศาลได้มีคำสั่งตั้งนางชิตให้เป็นผู้แทนเฉพาะคดีของเด็กหญิงเพียงใจ อินทร จำเลยที่ 2ด้วย ต่อมานางชิดถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายอรุณ ยอดเจริญบุตรจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และศาลได้ตั้งให้พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องคดีนี้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกของนายสดพิพากษาให้นายอรุณ ยอดเจริญ ในฐานะผู้รับมรดกความของจำเลยที่ 1 (ที่ถูกคือจำเลยที่ 1) แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10263ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทราแก่โจทก์ทั้งสอง สามในสี่ส่วน แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา บ้าน 1 หลังและยุ้งข้าว 1 หลัง อย่างละสามในสี่ส่วนแก่โจทก์ทั้งสองรวมทั้งคืนเงิน 45,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองด้วย หากผู้รับมรดกความจำเลยที่ 1 บิดพลิ้ว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และถ้าทรัพย์สินรายใดไม่อาจแบ่งได้ตามนั้น ก็ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินสดมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6900 ตำบลสามประทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520ของศาลชั้นต้นนั้นเห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น ประเด็นข้อพิพาทในคดีมีเพียงว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายสดและนางสำเนียงหรือไม่และมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงหรือไม่เท่านั้นสำหรับประเด็นเรื่องให้ส่งมอบทรัพย์มรดกในคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ที่จะไปฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกในส่วนของนายสดเจ้ามรดกต่อไป ส่วนคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งมรดกส่วนของนายสดเจ้ามรดกจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงกับขอให้เรียกมรดกของนายสดคืนจากจำเลยทั้งสองในส่วนที่จำเลยทั้งสองรับโอนไปโดยมิชอบ คนละประเด็นกับที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 166/2520 ของศาลชั้นต้น จึงมิใช่การรื้อฟ้องร้องในประเด็นที่ศาลได้เคยวินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องโจทก์ที่ 2 ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่านางลำเจียกมารดาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายไปก่อนนายสด โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถรับมรดกแทนที่นางลำเจียกได้นั้น เห็นว่า นางลำเจียกเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสดมรดก จึงเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629(3) เมื่อนางลำเจียกถึงแก่ความตายก่อนนายสดเจ้ามรดกโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้สืบสันดานของนางลำเจียก จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางลำเจียก ฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกของนายสดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10263 ตำบลบางขวัญ(สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินเดิมของนางสำเนียงซึ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 126 ที่จำเลยที่ 1 ซื้อให้เมื่อปี 2507 นั้น คงมีแต่คำกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ในอุทธรณ์และฎีกาเท่านั้น และก็ขัดกับคำเบิกความของนายอรุณ ยอดเจริญผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นางสำเนียงตั้งแต่นางสำเนียงยังเป็นเด็กข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังเป็นจริงไม่ได้ กลับปรากฏตามหลักฐานในโฉนดที่ดินเลขที่ 10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เอกสารหมาย ล.1 ว่านางสำเนียงได้ที่ดินแปลงนี้มาเมื่อปี 2508 ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนายสดเพียง9 ปีเท่านั้น เมื่อนายสดและนางสำเนียงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันประมาณ30 ปีแล้ว ที่ดินโฉนดดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่นายสดและนางสำเนียงได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน นายสดและนางสำเนียงจึงมีกรรมสิทธิ์รวมกันคนละส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357ส่วนของนางสำเนียงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1 และนายสดคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635(2) นายสดจึงมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ 3 ใน 4 ส่วน อีก 1 ส่วนตกได้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนของนายสดทั้งหมดตกได้แก่โจทก์ทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 10263ดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วน จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเงินฝากธนาคารจำนวน 45,000 บาท เป็นสินเดิมของนางสำเนียง เมื่อนางสำเนียงถึงแก่ความตายย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 และนายสดสามีนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่า หลังจากนายสดและนางสำเนียงจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ได้ร่วมกันทำมาหาได้เกิดสินสมรสหลายรายการซึ่งมีเงินฝากธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาฉะเชิงเทรา บัญชีเลขที่ 11592 จำนวน 45,000 บาทตามบัญชีทรัพย์สินสมรสเอกสารท้ายฟ้อง อันดับที่ 1 รวมอยู่ด้วยซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่า เงินสดในธนาคารประมาณสี่หมื่นกว่าบาทเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างนายสดและนางสำเนียงอยู่กินร่วมกันจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้เถียง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายที่ดินสินเดิมของนางสำเนียงนั้น จำเลยที่ 1เพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ไม่มีน้ำหนักในการรับฟังจึงต้องฟังว่าเงินฝากธนาคาร จำนวน 45,000 บาท ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายสดและนางสำเนียง เมื่อคดีฟังว่าก่อนจดทะเบียนสมรสกันนายสดและนางสำเนียงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่10263 ตำบลบางขวัญ (สามประทวน) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องถือว่าทั้งนายสดและนางสำเนียงต่างมีสินเดิมด้วยกันเมื่อนางสำเนียงถึงแก่ความตายเงินฝากธนาคารดังกล่าวต้องแบ่งกันระหว่างนายสดและนางสำเนียงคนละส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมมาตรา 1517 ส่วนของนางสำเนียงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1 และนายสดคนละกึ่งหนึ่ง นายสดจึงมีส่วนในเงินฝากธนาคารจำนวน45,000 บาท อยู่ 3 ใน 4 ส่วน อีก 1 ส่วนตกได้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนของนายสดตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสดและนางสำเนียงได้ถอนเงินฝากทั้งหมดแล้ว จำเลยที่ 1มีหน้าที่ต้องแบ่งเงินฝากดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง 3 ใน 4 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินทั้งหมดให้โจทก์ทั้งสองนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินฝากที่ถอนไปจากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา บัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 11592จำนวนเงิน 45,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสองสามในสี่ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share