คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2831/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาได้นั้น ก็จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงจะวินิจฉัยได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันผลิตอาหารปลอมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำผิดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3จะโต้เถียงข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ ที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ฎีกาว่า อาหารที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันผลิตไม่ใช่อาหารปลอม เพราะได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นผู้ประกอบกิจการผลิตอาหารแล้ว จึงไม่มีความผิดนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากคำให้การรับสารภาพและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้ากับความผิดฐานผลิตอาหารปลอมลักษณะของการกระทำผิดแยกจากกัน เมื่อมีการปลอมเครื่องหมายการค้าและนำไปใช้ก็เป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่งแล้ว เมื่อนำอาหารที่มีส่วนประกอบซึ่งไม่ใช่สูตรของอาหารที่แท้จริงมาปิดเครื่องหมายการค้าที่ทำปลอมขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคหรือประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นอาหารที่แท้จริง ก็เป็นความผิดฐานผลิตอาหารปลอมอีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นความผิดสองกระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้งฉบับซึ่งฉลากปิดขวดซอสหอยนางรมตราแม่ครัว หรือซอสน้ำมันหอยตราแม่ครัว ให้ปรากฏเครื่องหมายการค้า และข้อความในฉลากว่า ซอสหอยนางรมตราแม่ครัวและมีอักษรโรมันอ่านว่าออยสเตอร์ซอส มีรูปภาพผู้หญิงแต่งชุดแม่ครัวมือซ้ายถือตะหลิว มือขวาถือขวดซอสกำลังเทซอสใส่ตะหลิวเพื่อปรุงในกระทะโดยในกระทะมีคำว่า MAEKRUA (แม่ครัว) และข้อความเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาอาหรับ อันเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าของนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วต่อกรมทะเบียนการค้า และนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผลได้อนุญาตให้บริษัทจิ้วฮวด จำกัด และบริษัทตราแม่ครัว จำกัดใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อนำฉลากเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวไปเปิดบนขวดซอสหอยนางรมซึ่งจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันผลิตขึ้นเพื่อนำออกจำหน่ายให้แก่ผู้อื่นและประชาชน และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเอาชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ และข้อความในการประกอบการค้าของบริษัทจิ้วฮวด จำกัดและนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล มาใช้ให้ปรากฏที่สินค้าซึ่งเป็นขวดบรรจุซอสหอยนางรมปลอมที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตขึ้นโดยเอาฝาจุกปลอมมีข้อความว่าแม่ครัวปิดปากขวด เอาซิ้งฟิล์มปลอมมีข้อความว่าซอสน้ำมันหอยตราแม่ครัวเชลล์ชวนชิมปิดทับคร่อมฝาจุกติดกับคอขวดเอาฉลากปลอมรูปหอยและเปลวเพลิง มีข้อความว่าเชลล์ชวนชิมซอสหอยนางรมตราแม่ครัว ราคา 36 บาท ปิดที่คอขวดและเอาฉลากที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำปลอมขึ้นปิดที่ขวดดังกล่าวมีขนาดและลักษณะเช่นเดียวกันกับซอสหอยนางรมตราแม่ครัว ที่แท้จริงโดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของนายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล ซึ่งผลิตโดยบริษัทจิ้วฮวด จำกัดและจัดจำหน่ายโดยบริษัทตราแม่ครัว จำกัด ที่แท้จริง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันผลิตอาหารปลอมโดยผลิตซอสหอยนางรมปลอม โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งไม่ได้มาตรฐานโดยผลิตที่โรงงานของจำเลยที่ 3 ณ อาคารเลขที่ 77/209อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานแห่งใหม่ของจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยทั้งสามได้นำซอสหอยนางรมที่ผลิตขึ้นดังกล่าวบรรจุลงในขวดหลายขนาดเพื่อนำออกจำหน่ายให้แก่ประชาชน โดยจำเลยทั้งสามได้ใช้ฝาจุกปลอมมีข้อความว่าแม่ครัวปิดปากขวด ใช้ซิ้งฟิล์มปลอมมีข้อความว่า”ซอสน้ำมันหอยตราแม่ครัวเชลส์ชวนชิม” ปิดทับคร่อมฝาจุกติดกับปากขวดเอาฉลากปลอมรูปหอยและเปลวเพลิงมีข้อความว่า เชลส์ชวนชิมซอสหอยนางรมตราแม่ครัว ราคา 36 บาท ปิดที่คอขวด ซึ่งคำว่าเชลส์ชวนชิมนี้เป็นลักษณะพิเศษและใช้ฉลากตราแม่ครัวปลอมซึ่งได้กระทำขึ้นดังกล่าว ซึ่งฉลากดังกล่าวมีข้อความสำคัญว่า”ซอสหอยนางรมตราแม่ครัว ผลิตโดยบริษัทจิ้วฮวด จำกัด500 ถนนอ่างศิลา บางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี จัดจำหน่ายโดยบริษัทตราแม่ครัว จำกัด 11/50-53 ถนนพัฒนาการ ตำบลสวนหลวงอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร” ปิดไว้ที่ขวดบรรจุซอสหอยนางรมที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันผลิตขึ้น โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะลวงหรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ลักษณะพิเศษและสถานที่ผลิตซอสหอยนางรมที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตขึ้นว่าเป็นซอสหอยนางรมตราแม่ครัวที่แท้จริง ซึ่งเป็นซอสหอยนางรมที่มีคุณภาพดี การผลิตได้มาตรฐานอันเป็นสินค้าที่ประชาชนนิยมและรู้จักกันดีในวงการค้า ซึ่งผลิตโดยบริษัทจิ้วฮวด จำกัด ผลิตขึ้นที่โรงงานเลขที่ 500 ถนนอ่างศิลา-บางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ซอสหอยนางรมที่จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตขึ้นดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานคุณภาพไม่ดี ไม่มีคนนิยม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 50, 83, 91, 272, 273, 274พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25, 27, 29 ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นใบทะเบียนการค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยงวัฒน์อุตสาหกรรมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ใบสำคัญการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดยงวัฒน์อุตสาหกรรมใบอนุญาตผลิตอาหารของจำเลยที่ 2 ใบอนุญาตตั้งโรงงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดยงวัฒน์อุตสาหกรรมให้คืนแก่เจ้าของขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามประกอบอาชีพผลิตซอสน้ำมันหอยเพื่อประกอบการค้าอีกต่อไป
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธศาลจึงสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 50, 83, 91, 272, 273, 274พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25, 27, 29 ให้เรียงกระทงลงโทษ ข้อหาปลอมเครื่องหมายการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 1,000 บาทข้อหาใช้รูปรอยประดิษฐ์ของผู้อื่นในการประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปีปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 1,000 บาท ข้อหาผลิตอาหารปลอม จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 20,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 22,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี และปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 11,000 บาทริบของกลาง เว้นแต่ใบทะเบียนการค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยงวัฒน์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ใบสำคัญการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดยงวัฒน์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตผลิตอาหารของจำเลยที่ 2 ใบอนุญาตตั้งโรงงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดยงวัฒน์อุตสาหกรรมให้คืนเจ้าของ และห้ามจำเลยที่ 2 ที่ 3ประกอบอาชีพผลิตซอสน้ำมันหอยเพื่อประกอบการค้าอีกต่อไป โจทก์ร่วมทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าสำหรับความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272และความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 273 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 1,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละกึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 1 ปี ปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 500 บาท และห้ามจำเลยที่ 2ที่ 3 ประกอบอาชีพผลิตซอสน้ำมันหอยเพื่อประกอบการค้ามีกำหนดเวลา5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปีจำเลยที่ 3 ปรับ 11,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและใช้เครื่องหมายการค้าปลอม เป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษฐานปลอมเครื่องหมายการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดโดยลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 500 บาท ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกแต่คดีนี้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ถึงอย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาได้นั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า อาหารที่จำเลยผลิตไม่ใช่อาหารปลอมเพราะได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นผู้ประกอบกิจการผลิตซอสน้ำมันหอยตราผึ้งและตราดาวทองแล้ว จึงไม่มีความผิดนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมใช้เครื่องหมายการค้าปลอม และผลิตอาหารปลอมดังมีรายละเอียดอยู่ในฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ให้การรับสารภาพผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงก็ต้องฟังตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะโต้เถียงข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกขึ้นฎีกาเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากคำให้การรับสารภาพและยังเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2ที่ 3 จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาอีกข้อของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบา รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2และห้ามจำเลยที่ 2 ที่ 3 ประกอบอาชีพผลิตซอสน้ำมันหอยเพื่อการค้าไม่เกิน 1 ปี นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในสถานเบาและได้กำหนดระยะเวลาห้ามจำเลยที่ 2 ที่ 3ประกอบอาชีพผลิตซอสน้ำมันหอยเพื่อการค้าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายที่ว่า ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้ากับความผิดฐานผลิตอาหารปลอมเป็นความผิดกรรมเดียวกันนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ลักษณะของการกระทำผิดแต่ละกระทงแยกจากกัน เมื่อมีการปลอมเครื่องหมายการค้าและนำไปใช้ก็เป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่งแล้ว เมื่อนำอาหารที่ส่วนประกอบไม่ใช่สูตรของซอสน้ำมันหอยตราแม่ครัวมาปิดเครื่องหมายการค้าที่ทำปลอมขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคหรือประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นซอสน้ำมันหอยตราแม่ครัวที่แท้จริง ก็เป็นความผิดฐานผลิตอาหารปลอมอีกกระทงหนึ่งการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิด 2 กระทง ฎีกาของจำเลยที่ 2ที่ 3 ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share