คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์กรอกข้อความลงในหนังสือกู้และสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเพียงแต่ลงลายมือชื่อให้โจทก์ไว้ผิดไปจากความจริงโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยหนังสือสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันจึงเป็นเอกสารปลอม แม้จำเลยทั้งสองจะเบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไปทั้งสิ้นจำนวน 50,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ค้ำประกันให้โจทก์ไว้ 5,000 บาทก็ตามโจทก์ก็มิอาจอาศัยหนังสือสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามจำนวนที่กู้และค้ำประกันจริงได้ ถือได้ว่าการกู้เงินและค้ำประกันไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ยืมและค้ำประกันจำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน19,562.50 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องถึงวันที่จำเลยทั้งสองชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงิน150,000 บาท ในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่มีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันแต่ไม่มีการกรอกข้อความ โดยจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปหลายครั้งเป็นหนี้อยู่จริง ๆจำนวน 50,000 บาท และจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการกู้เงินเพียงครั้งเดียวจำนวน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 54,625 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบโดยไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารการรับเงินเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้ 3 ครั้ง และได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ไว้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่และหากเป็นเอกสารปลอมการที่จำเลยที่ 1 นำสืบรับว่ากู้เงินโจทก์ไปจำนวน 50,000 บาทและจำเลยที่ 2 นำสืบรับว่าลงลายมือชื่อค้ำประกันเงินกู้จำนวน5,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 นั้น โจทก์จะอาศัยเอกสารดังกล่าวฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบนั้นได้หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวเห็นสมควรวินิจฉัยรวมไปด้วยกัน เห็นว่า แม้โจทก์จะเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 150,000 บาท โดยทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 และมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ก็ตามแต่เมื่อตรวจดูเอกสารดังกล่าวแล้วสีหมึกแห้งในช่องพยานกับสีหมึกแห้งในช่องเจ้าของเงินและในช่องผู้เขียน ซึ่งเป็นลายมือชื่อของโจทก์นั้นแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง จึงขัดกับคำเบิกความของนางนิตยาและนายชาลีพยานโจทก์ที่เบิกความว่า พยานทั้งสองใช้ปากกาด้ามเดียวกันกับที่โจทก์ใช้เขียนเอกสารดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่า พยานทั้งสองของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ในวันเดียวกันกับที่โจทก์ลงลายมือชื่อ และรู้เห็นการกู้เงินและการค้ำประกันของจำเลยทั้งสอง ดังนั้นคำนางนิตยาและนายชาลีพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อแต่ประการใดอีกประการหนึ่ง ถ้าหากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไม่ครบจำนวนตามที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ขอกู้ 150,000 บาท แต่โจทก์จ่ายให้ก่อนเพียง 140,000 บาท จริงก็ไม่น่าจะต้องทำบันทึกการรับเงินต่างหากจากสัญญากู้หรือสัญญาค้ำประกัน เพราะสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันมีช่องว่างพอที่จะลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 จำนวนเงินและวันรับเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ได้ แต่โจทก์มิได้กระทำ กลับให้จำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อในใบรับเงินต่างหากตามเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นข้อที่ผิดวิสัยอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้นปรากฏว่าต้นฉบับใบรับเงินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ให้ทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น โจทก์ย่อมรู้ว่าเป็นเอกสารสำคัญจึงน่าจะต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองไว้แล้ว แต่โจทก์กลับอ้างว่า ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวสูญหายไปหลังจากฟ้องคดีไม่อาจส่งต่อศาลได้ จึงเป็นข้อพิรุธของโจทก์อีกเป็นประการที่สอง สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้นำสืบปฏิเสธอยู่ว่า ครั้งแรกจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจากโจทก์ไปเพียง40,000 บาท โดยมีนางทองสุขเป็นเพื่อนไปขอกู้เงินโจทก์พร้อมกันนางทองสุขกู้เงินจากโจทก์เพียง 7,000 บาท โจทก์ให้เอาเงินจากส่วนที่จำเลยที่ 1 รับจากโจทก์และให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชอบด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินแล้วโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบรับเงินและมีวันเดือนปีรับเงินตามเอกสารหมาย จ.1 และโจทก์ให้จำเลยที่ 1และนางทองสุขลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มสัญญากู้เงินแต่ไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมากลางเดือนตุลาคมปีเดียวกัน จำเลยที่ 1 ได้ขอกู้เงินโจทก์อีก 5,000 บาท โดยไปกับจำเลยที่ 2 ในการกู้ครั้งนี้โจทก์อ้างว่าสัญญากู้เงินฉบับเดิมหายจึงให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 และให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 โดยไม่ได้กรอกข้อความเช่นกันและโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับเงินในเอกสารหมาย จ.1ฉบับเดิม ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2528 จำเลยที่ 1 ไปกู้เงินโจทก์อีก 5,000 บาท โดยไปกับนางทองสุข เมื่อรับเงินแล้วโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1 ฉบับเดิมรวมทั้งสิ้นจำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์เพียง 50,000 บาท และจำเลยที่ 1เบิกความยืนยันว่า ไม่ได้เขียนเลข 1 หน้า เลข 4 ของจำนวนเงิน40,000 บาท แต่ประการใด ทั้งคำของนางทองสุขและคำของจำเลยที่ 2สอดคล้องตรงกันกับจำเลยที่ 1 อนึ่ง ได้ความจากคำของนายวัฒนะ ลีลาภัทร ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 1 ว่า ภายหลังโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอให้นายวัฒนะช่วยไกล่เกลี่ยประนีประนอมให้ จำเลยที่ 1 ยืนยันว่ากู้เงินโจทก์เพียง 50,000 บาท และเสนอใช้เงินให้โจทก์ 70,000 บาทเศษแต่โจทก์จะขอรับจำนวน 150,000 บาท จึงเห็นว่า หากโจทก์ให้จำเลยที่ 1กู้เงินไปจริงจำนวน 150,000 บาท เมื่อคิดทั้งดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่เคยชำระก็จะเป็นจำนวนสูงกว่า 169,000 บาท ไม่ปรากฏเหตุผลอะไรที่โจทก์จะลดจำนวนเงินลงมากขนาดนั้น ดังนั้นการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปทั้งสิ้น 150,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้กรอกข้อความลงในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ซึ่งจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อให้โจทก์ไว้ผิดไปจากความจริงโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จึงเป็นเอกสารปลอม แม้จำเลยทั้งสองจะเบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไปทั้งสิ้นจำนวน50,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ค้ำประกันให้โจทก์ไว้ 5,000 บาทก็ตามโจทก์ก็มิอาจอาศัยสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และจ.4 ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานฟ้องร้องบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามจำนวนที่กู้และค้ำประกันจริงได้ ถือได้ว่าการกู้เงินและค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share