คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากผิดสัญญาประกัน จำเลยนายประกันได้พยายามสืบหาผู้ต้องหาและได้จ้างผู้อื่นช่วยสืบหาจนได้ตัวผู้ต้องหาส่งให้แก่โจทก์ดำเนินคดี แม้จะใช้เวลาเกือบ 2 ปี ความเสียหายของโจทก์ก็มีน้อยกว่าที่โจทก์ดำเนินการเอง สมควรลดค่าปรับให้แก่จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งให้โจทก์ตามสัญญาประกันอันเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงได้สั่งปรับจำเลยตามสัญญาเป็นเงินค่าปรับ 250,000 บาท และแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระให้โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าปรับจำนวน 250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ประกันตัวนางจันจิราจันทร์เผ่าแสง ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชนไปจากสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางจริง แต่จำเลยไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยจำเลยได้นำตัวนางจันจิราจันทร์เผ่าแสง ส่งให้สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางเรียบร้อยแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันนางจันจิรา จันทร์เผ่าแสง ซึ่งต้องหาว่าร่วมกันฉ้อโกงประชาชนไปจากโจทก์ โดยตกลงว่าถ้าจำเลยส่งตัวนางจันจิราผู้ต้องหาให้โจทก์ไม่ได้ตามกำหนด จำเลยยอมชดใช้เงินจำนวน250,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่สามารถส่งตัวนางจันจิราให้โจทก์ได้ภายในกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม 2528 จำเลยจึงได้ขอเลื่อนการส่งตัวไปเป็นวันที่ 20 สิงหาคม 2528 วันที่ 10 กันยายน 2528 วันที่ 20กันยายน 2528 วันที่ 13 สิงหาคม 2529 และวันที่ 28 สิงหาคม 2529ผลสุดท้าย จำเลยไม่สามารถส่งตัวนางจันจิราให้โจทก์ได้ โจทก์จึงได้ปรับตามสัญญาเป็นเงินค่าปรับ 250,000 บาท และให้จำเลยชำระ แต่จำเลยไม่ชำระ ในระหว่างนั้นจำเลยได้จ้างให้นางประยูร บัวผันและนายทิม ไชยพันธุ์ ติดตามจับนางจันจิรา เสียค่าจ้างเป็นเงิน7,000 บาท แต่ไม่ได้ผล ต่อมาได้ว่าจ้างให้สำนักงานสากลนักสืบติดตามจับเป็นเงิน 20,000 บาท และจับกุมนางจันจิราได้เมื่อวันที่6 สิงหาคม 2531 พนักงานสอบสวนจึงได้ดำเนินคดีแก่นางจันจิราในคดีที่จำเลยประกัน ส่วนค่าปรับจำเลยในการผิดสัญญาประกัน ศาลชั้นต้นกำหนดให้ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 150,000 บาท
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยควรเสียค่าปรับเพียงใด เห็นว่าตามสัญญากำหนดไว้ 250,000 บาท โจทก์ได้ให้จำเลยชำระค่าปรับตามจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระ 200,000 บาทศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระ 150,000 บาท โจทก์ขอให้จำเลยชำระ200,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่จะให้จำเลยชำระเงินค่าปรับเพียงใดนั้น ต้องพิเคราะห์ถึงผลได้เสียของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่สามารถดำเนินคดีแก่นางจันจิราได้ ตามกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกัน ซึ่งตามข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญาแล้ว จำเลยได้พยายามสืบหาผู้ต้องหาเพื่อจะส่งตัวให้โจทก์จนผลสุดท้ายจำเลยต้องจ้างให้ผู้อื่นช่วยสืบต้องเสียค่าจ้าง 27,000 บาท จนได้ตัวนางจันจิรามาส่งให้โจทก์ดำเนินคดี แม้จะเป็นเวลาเกือบ 2 ปี แต่จำเลยก็ได้พยายามตลอดมาและการได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี เป็นผลมาจากการติดตามสืบหาของจำเลย ถ้าหากจำเลยผิดสัญญาแล้วมิได้ดำเนินการและติดตามจับมาได้เอง จำเลยควรเสียค่าปรับอย่างสูง แต่โจทก์มิได้ดำเนินการติดตามจับกุมเองเพียงออกหมายจับนางจันจิราไว้แล้วจำเลยเป็นผู้ดำเนินการเองจนโจทก์ได้ตัวมาดำเนินการตามกฎหมาย ความเสียหายของโจทก์จึงมีน้อยกว่าที่โจทก์ดำเนินการเองควรลดค่าปรับให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจให้จำเลยใช้เงินค่าปรับ 150,000 บาท โดยอาศัยพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดี นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลง…”
พิพากษายืน.

Share