แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ให้ ว. ไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้โจทก์ เมื่อจำเลยนำหลักฐานที่ ว.ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินตามสำเนาใบมอบฉันทะถอนเงินมาแสดงจึงถือได้ว่าเป็นการนำสืบการใช้เงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือของตัวแทนผู้ให้กู้ยืมเงินมาแสดง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 25,000 บาท จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 31,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 25,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น การจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง การนำสืบการใช้เงินของจำเลยไม่ต้องด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้นายวงศ์สกุลเป็นผู้ไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้โจทก์ จึงถือว่านายวงศ์สกุลเป็นตัวแทนโจทก์รับชำระหนี้จากจำเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยนำหลักฐานที่นายวงศ์สกุลลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงิน ตามสำเนาใบมอบฉันทะถอนเงินเอกสารหมาย ล.1 มาแสดง จึงถือได้ว่าเป็นการนำสืบการใช้เงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือของตัวแทนผู้ให้กู้ยืมเงินมาแสดงแล้ว การนำสืบการใช้เงินของจำเลยจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ศาลมีอำนาจรับฟังได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.