คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2133/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สุกรที่ผู้ร้องขอให้ปล่อยจากการยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นเงิน 21,000 บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน50,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ส. และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นพยานผู้ร้องเบิกความถึงเอกสารหมาย ร.1 แตกต่างกันเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าเอกสารดังกล่าวได้จัดทำขึ้นหลังยึดสุกรแล้วที่ผู้ร้องฎีกาว่าสุกรดังกล่าวเป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 การที่ศาลรับฟังพยานโจทก์เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารหมาย ร.1 นั้น จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 20,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสุกร 12 ตัวของจำเลยที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าสุกร 12 ตัวราคาประมาณ 21,000 บาท ตามบัญชียึดทรัพย์ เป็นทรัพย์ของผู้ร้องที่นำไปฝากไว้กับจำเลยที่ 2เพื่อให้เลี้ยงดู และแบ่งลูกสุกรซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลัง ปรากฏหลักฐานการรับฝากเลี้ยงสุกร เอกสารท้ายคำร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ตามบัญชียึดทรัพย์เป็นของจำเลยที่ 2ไม่ใช่ของผู้ร้อง หลักฐานการรับฝากสุกรเอกสารท้ายคำร้องเป็นหลักฐานเท็จที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับผู้ร้องทำขึ้นภายหลังการยึดทรัพย์ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สุกรจำนวน 12 ตัว ที่ผู้ร้องขอให้ปล่อยจากการยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นจำนวนเงิน21,000 บาท คดีจึงมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าสุกรจำนวน 12 ตัว เป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 การที่ศาลรับฟังพยานโจทก์เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหมาย ร.1 ที่ผู้ร้องอ้างส่งต่อศาลนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพยานของผู้ร้องเบิกความถึงเอกสารหมาย ร.1 แตกต่างกันเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าเอกสารดังกล่าวได้จัดทำขึ้นหลังยึดสุกรแล้ว ฎีกาของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่ใช้บังคับในขณะผู้ร้องยื่นฎีกา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องจึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาให้ยกฎีกาผู้ร้อง

Share