แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 3(พ.ศ. 2515) ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการแจ้งและออกคำสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2515 ใช้บังคับกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งบันทึกเหตุการณ์และเหตุผลในการไม่ยอมรับหนังสือแจ้งไว้ และให้มีพยานอย่างน้อย2 คน ลงชื่อรับรองไว้ในบันทึกนั้นด้วย เมื่อผู้นำส่งหนังสือแจ้งได้ปฏิบัติการดังกล่าวแล้วนั้นให้ถือว่าผู้ฝ่าฝืนได้รับหนังสือแจ้งแล้ว แต่ตามบันทึกข้อความของเจ้าหน้าที่ผู้นำหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินไปส่งแก่จำเลย นอกจากจะไม่ปรากฏเหตุผลที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมรับหนังสือแจ้งแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้นำส่งได้สอบถามเหตุผลเอาจากผู้ฝ่าฝืนแล้วบันทึกไว้และไม่ปรากฏว่าบันทึกดังกล่าวเป็นเอกสารที่อ้างอิงเกี่ยวกับจำเลยว่าเป็นผู้เข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินของรัฐอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บันทึกข้อความนั้นจึงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ระเบียบกำหนด จะถือว่าจำเลยได้รับหนังสือแจ้งอันเป็นคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้และทราบคำสั่งนั้นแล้วหาได้ไม่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้บังอาจเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้างที่ดินบริเวณป่าช้าบ้านดอนกลางอันเป็นที่ดินของรัฐประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตำบลบึงโขงหลง กิ่งอำเภอบึงโขงหลง (ซึ่งแยกมาจากอำเภอเซกา) จังหวัดหนองคาย โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินรวมเนื้อที่ 12 ไร่ 45 ตารางวา จำเลยที่ 2 ครอบครองเนื้อที่10 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา จำเลยที่ 3 ครอบครองเนื้อที่ 6 ไร่จำเลยที่ 4 ครอบครองเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา จำเลยที่ 5และที่ 6 ร่วมกันครอบครองเนื้อที่ 8 ไร่ 39 ตารางวา และจำเลยที่ 7 ครอบครองเนื้อที่ 1 งาน 93 ตารางวา ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอบึงโขงหลง ได้แจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งเจ็ดปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515) ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการแจ้งและออกคำสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน 2 ครั้ง ครั้งแรกให้จำเลยทั้งเจ็ดออกจากที่ดินภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งเป็นหนังสือแจ้ง จำเลยทั้งเจ็ดได้รับแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม2529 ครั้งที่ 2 ให้จำเลยทั้งเจ็ดออกจากที่ดินที่ครอบครองภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งเป็นหนังสือ จำเลยทั้งเจ็ดได้รับคำสั่งแล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2529 แต่จำเลยทั้งเจ็ดฝ่าฝืนเพิกเฉยไม่ออกจากที่ดินภายในกำหนดตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจในกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 96ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368และให้จำเลยทั้งเจ็ดและบริวารของจำเลยทั้งหมดออกจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครองดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ อันเป็นบทหนักให้จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 6 เดือน ให้จำเลยที่ 6 และบริวารทั้งหมดออกจากที่ดินที่เข้ายึดถือครอบครอง จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าการนำส่งหนังสือแจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ฝ่าฝืนให้ออกจากที่ดินยังไม่ถูกต้องเนื่องจากผู้นำส่งยังไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515)ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการแจ้งและออกคำสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2515 ใช้บังคับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การนำส่งหนังสือแจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยออกจากที่ดินดังกล่าวถูกต้องจำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายขันชัย ชัยจันทร์เป็นเจ้าหน้าที่ผู้นำหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 แต่จำเลยดังกล่าวไม่ยอมรับ นายขันชัยจึงได้ทำบันทึกข้อความไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 ตามลำดับซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า บันทึกดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทำไว้ยังไม่ถูกต้องและโจทก์ฎีกาว่าบันทึกข้อความดังกล่าวเจ้าหน้าที่ผู้นำส่งได้ทำถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2แล้วไม่ปรากฏว่ามีบันทึกเหตุผลของการที่ผู้บุกรุกหรือฝ่าฝืนคำสั่งไม่ยอมรับหนังสือแจ้งไว้แต่อย่างใด ใช่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏในบันทึกดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินจะต้องบันทึกให้ปรากฏไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นการส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าวอย่างแท้จริง ตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515) ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการแจ้งและออกคำสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2515 ใช้บังคับ ในหมวด 2 การแจ้งและมีคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนออกจากที่ดินของรัฐกำหนดไว้ในข้อ 7 ซึ่งสำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่นำไปส่ง ให้ปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมลงชื่อรับหนังสือแจ้งในใบรับ ดังนี้คือ ให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งบันทึกเหตุการณ์และเหตุผลในการไม่ยอมรับหนังสือแจ้งไว้ และให้มีพยานอย่างน้อย 2 คน ลงชื่อรับรองไว้ในบันทึกนั้นด้วย เมื่อผู้นำส่งหนังสือแจ้งได้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้นแล้ว ให้ถือว่าผู้ฝ่าฝืนได้รับหนังสือแจ้งแล้วแต่ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 นอกจากจะไม่ปรากฏเหตุผลที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมรับหนังสือแจ้งแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือได้สอบถามเหตุผลเอาจากผู้ฝ่าฝืนแล้วบันทึกไว้แต่อย่างใด อีกทั้งหากผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมแจ้งเหตุผลก็ชอบที่เจ้าหน้าที่จะจดแจ้งข้อความว่าผู้ฝ่าฝืนไม่ยอมแจ้งเหตุผลให้ปรากฏไว้ แต่ก็หาได้ปรากฏเช่นนั้นไม่ โดยเฉพาะไม่ปรากฏว่าเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 เป็นเอกสารที่อ้างอิงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 ว่าเป็นผู้เข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินของรัฐ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ศาลฎีกาได้พิเคราะห์โดยตระหนักแล้ว เห็นว่า บันทึกทั้งสองฉบับ ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งหนังสือแจ้งและคำสั่งให้ออกจากที่ดินต้องปฏิบัติ ดังนั้น จะถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ถึงที่ 7 ได้รับหนังสือแจ้งอันเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้และทราบคำสั่งนั้นแล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 จึงยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4ที่ 5 และที่ 7 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108”
พิพากษายืน