แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนว่ามีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 8/3เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดประกาศ ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีใจความสำคัญว่าเนื่องจาก จำเลยที่ 1 ได้หยุดกิจการชั่วคราวไม่มีคนอยู่ หากมีเรื่องต้องแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งไปยังเลขที่ 18 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว เพราะจำเลยที่ 1มีความประสงค์ถือเอาสถานที่ตามคำร้องเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 49 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องแจ้งการขายทอดตลาดไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 1 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดประกาศ ณ ภูมิลำเนาตามที่ปรากฏในทะเบียนหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ได้รับคำร้องแจ้งภูมิลำเนาเฉพาะการก่อนหน้านั้นแล้ว จึงเป็นการแจ้งที่ไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการแจ้งการขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 306 การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมที่ให้ร่วมกันชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2532 โดยนางวราภรณ์ โลหะพิบูลย์ เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 4,500,000 บาท
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งคำโฆษณาบอกขายทอดตลาดให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศให้จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ณ บ้านเลขที่ 8/3 สุขุมวิท 8 (ซอยปรีดา) ถนนสุขุมวิทแขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ทั้งที่เมื่อวันที่ 26พฤษภาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีติดต่อจำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาเลขที่ 18อาคาร 6 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนครกรุงเทพมหานคร แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งมาสั่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2532 หลังจากขายทอดตลาดทรัพย์สินในคดีนี้ไปแล้ว 3 วัน การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวส่อพฤติการณ์ในทางไม่สุจริต ปกปิดความจริงที่ควรแจ้งแก่จำเลยทั้งสามทำให้จำเลยทั้งสามเสียหาย ซึ่งถ้าจำเลยทั้งสามมีโอกาสทราบประกาศการขายทอดตลาดก็สามารถติดต่อผู้ที่เคยมาขอซื้อทรัพย์สินดังกล่าวในราคา 6 ล้านบาทเจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้นางวราภรณ์ โลหะพิบูลย์ ราคา 4,500,000 บาท จึงเป็นราคาต่ำไป จำเลยทั้งสามเพิ่งทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนกฎหมายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2532 ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดถูกต้องเพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 1ทราบแล้วโดยแจ้งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เลขที่ 8/3ถนนสุขุมวิท 8 (ซอยปรีดา) แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ทราบวันประกาศการขายทอดตลาดแล้ว แต่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 29 มิถุนายน 2532 จึงเกิน 8 วันนับแต่วันขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ดังกล่าวราคาที่ขายเป็นราคาที่สมควร ที่จำเลยอ้างว่าจะขายบุคคลภายนอกในราคา 6 ล้านบาท เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการโดยถูกต้องและผู้ซื้อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการขายทอดตลาดให้จำเลยทั้งสามทราบเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ปัญหาดังกล่าวคู่ความรับกันว่าบริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนว่ามีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 8/3 สุขุมวิท 8 (ซอยปรีดา) ถนนสุขุมวิทแขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดประกาศ ณภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2532 และยังรับกันอีกว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่26 พฤษภาคม 2532 มีใจความสำคัญว่าเนื่องจากบริษัทจำเลยที่ 1ได้หยุดกิจการชั่วคราวไม่มีคนอยู่หากมีเรื่องต้องแจ้งแก่จำเลยที่ 1ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งไปยังเลขที่ 18 อาคาร 6 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเพราะจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ถือเอาสถานที่ตามคำร้องเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 49 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องแจ้งการขายทอดตลาดไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 1 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดประกาศ ณ ภูมิลำเนาตามที่ปรากฏในทะเบียนหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ได้รับคำร้องแจ้งภูมิลำเนาเฉพาะการก่อนหน้านั้นแล้ว จึงเป็นการแจ้งที่ไม่ชอบถือไม่ได้ว่ามีการแจ้งการขายทอดตลาดแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดใหม่