คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า กิจการจำเลยเป็นการจ้างแรงงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ ศาลแรงงานกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกัน การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 กิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ การจ้างงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อออกจากงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากครบเกษียณอายุขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์พ้นตำแหน่งหน้าที่ด้วยเหตุเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดลงโดยจำเลยมิจำต้องบอกเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยว พ.ศ. 2522 มาตรา 8 ซึ่งตามวัตถุประสงค์เป็นการจ้างงานที่มิได้ประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่มิได้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาคู่ความยอมรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2532โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยยังไม่จ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ กิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรตามคำให้การจำเลย และกิจการของจำเลยได้รับงบประมาณจากงบประมาณแผ่นดินถึงร้อยละ 90 โจทก์และจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่ากิจการของจำเลยเป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจทางปฏิบัติจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานที่ออกจากงานเพราะเกษียณอายุตลอดมาและได้มีคำพิพากษาฎีกาพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว
พิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 16 ตุลาคม 2534 ว่า ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันหลายประการ รวมทั้งข้อเท็จจริงว่า กิจการจำเลยเป็นการจ้างแรงงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรตามคำให้การจำเลยข้อ 4 และกิจการของจำเลยได้รับงบประมาณแผ่นดินถึงร้อยละ 90ศาลแรงงานกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงว่ากิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่ากิจการของจำเลยเป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กิจการของจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจ การจ้างงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 2 ค่าชดเชยที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยนั้นเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 เมื่อการจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้”
พิพากษายืน

Share