แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อที่ว่า ห. ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่จำเลยให้การว่าพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นจะเป็นเอกสารที่มีอยู่จริงหรือไม่ สมบูรณ์ถูกต้องแท้จริงและมีผลบังคับได้หรือไม่จำเลย ไม่ทราบและไม่รับรอง คำให้การของจำเลยดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าจำเลย ให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่า ห. ได้ทำพินัยกรรมยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อปี 2513 ห. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้โจทก์บุตรผู้เยาว์ของ ส.โดยให้ส.เป็นผู้จัดการมรดกห.ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายเมื่อปี 2514 หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี ส.ไปขอรับพินัยกรรมจากอำเภอ ปรากฎว่ามีผู้แอบอ้างชื่อ ส. รับพินัยกรรมไปก่อนแล้ว แต่ ส. ก็มิได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อติดตามพินัยกรรมที่หายไป ส.และโจทก์คง ปล่อยให้ ป. และผ.อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมา โดยมิได้ทักท้วงจนผ. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2525 หลังจากนั้นโจทก์ก็ปล่อยให้ ป. อยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาจนกระทั่งเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์สละการครอบครองบ้านและ ที่ดินพิพาทแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามส.ค.1 เลขที่ 177 ตำบลบางเตยอำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่เดือนที่ฟ้องจนกว่าจะส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 5294 ตำบลบางเตยอำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
จำเลยให้การว่า นายประดิษฐมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเมื่อปี 2529 โจทก์ยื่นคำคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยพินัยกรรมตามฟ้องจะมีอยู่จริงหรือไม่และสมบูรณ์ถูกต้องเพียงใดจำเลยไม่ทราบไม่รับรอง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 177ตำบลบางเตย อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 5294 ตำบลบางเตย อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยว่า นางหีดได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ในประเด็นข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า พินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นจะเป็นเอกสารที่มีอยู่จริงหรือไม่สมบูรณ์ถูกต้องแท้จริงและมีผลบังคับได้หรือไม่จำเลยไม่ทราบ จึงไม่ขอรับรองศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่านางหีดได้ทำพินัยกรรมยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปที่จะวินิจฉัยมีว่า นายประดิษฐและจำเลยยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์หรือไม่ ในประเด็นข้อนี้โจทก์มีนายไสว โปร่งจิตต์ นายถวิล โปร่งจิตต์ และนางสวัสดิ์มารดาโจทก์เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่านางหีด โปร่งจิตต์ กับสามีมีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ นายไสว นางไพ นางผาด นายถวิล และนางสวัสดิ์มารดาโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายแช่ม นายแช่มยกให้นายช่วย ต่อมานายช่วยยกให้นางหีด นางหีดปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทกับบุตรทั้งห้า เมื่อนายไสว นางไพ นายถวิล และนางสวัสดิ์มีครอบครัวก็แยกไปอยู่ที่อื่น โดยนางสวัสดิ์ไปอยู่บ้านเลขที่ 23/3ห่างจากบ้านพิพาทประมาณ 2 เส้น คงเหลือแต่นางผาดกับนายประดิษฐสามีของนางผาดอยู่ร่วมกับนางหีด นางหีดไปแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อปี 2498 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2513 นางหีดไปทำพพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่อำเภอเมืองพังงายกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ นางหีดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2514หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี นางสวัสดิ์ไปขอรับพินัยกรรม ปรากฏว่ามีผู้อ้างชื่อนางสวัสดิ์มารับพินัยกรรมไปแล้ว นางผาดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2525 นางสวัสดิ์ได้บอกนายประดิษฐให้ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่นายไสวขอร้องให้นายประดิษฐอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป เนื่องจากนายประดิษฐอายุมากแล้วและไม่มีญาติพี่น้อง จำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทหลังจากที่นางผาดตายแล้ว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2529 จำเลยไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์ไปยื่นคำคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดให้จำเลยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2531 จำเลยมีตัวจำเลยและนายประดิษฐเเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่านายประดิษฐกับนางผาดเข้าจับจองที่ดินพิพาทและปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทมาได้ประมาณ 35 ปีโดยให้นางหีดแม่ยายไปแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทแทน นางหีดถึงแก่ความตายเมื่อปี 2514 นายประดิษฐกับนางผาดครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง เมื่อนางผาดถึงแก่ความตายในปี 2525 นายประดิษฐจึงยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม จำเลยได้ครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน นางสวัสดิ์ไม่เคยมาบอกให้นายประดิษฐออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2529 จำเลยไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาท นายหงษ์น้องโจทก์ นางสวัสดิ์และตัวโจทก์ไปคัดค้าน แต่ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่านางหีดผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2514หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี นางสวัสดิ์ไปขอรับพินัยกรรมจากอำเภอปรากฏว่ามีผู้แอบอ้างชื่อนางสวัสดิ์รับพินัยกรรมไปก่อนแล้วแต่นางสวัสดิ์ก็มิได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อติดตามหาพินัยกรรมที่หายไปนางสวัสดิ์และโจทก์ คงปล่อยให้นายประดิษฐและนางผาดอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมาโดยมิได้ทักท้วงจนนางผาดถึงแก่ความตายเมื่อปี 2525หลังจากนั้นโจทก์ก็ปล่อยให้นายประดิษฐอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาจนกระทั่งเกิดเหตุพิพาทในคดีนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์สละการครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแล้ว ข้อที่โจทก์นำสืบว่าหลังจากนางผาดตาย นางสวัสดิ์ได้ไปบอกให้นายประดิษฐออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท แต่นายไสวพี่ชายคนโตมาขอร้องให้นายประดิษฐอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทต่อไป เนื่องจากนายประดิษฐอายุมากแล้วและไม่มีญาติพี่น้องนั้น โจทก์คงมีแต่พยานบุคคลเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวประกอบกัน ศาลฎีกาจึงเชื่อว่า นายประดิษฐครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนหาใช่ยึดถือไว้แทนโจทก์ไม่ เมื่อนายประดิษฐโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยย่อมได้ไปซึ่งการครอบครองจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับนางหีดหรือโจทก์ การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาท จึงถือได้ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทไว้เพื่อตน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ.